วัดทุ่งลาดหญ้า หรือชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดลาดหญ้า”

วัดทุ่งลาดหญ้า หรือชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดลาดหญ้า

   สังกัดมหานิกาย อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ภาค ๑๔ สถานที่ตั้งวัด วัดทุ่งลาดหญ้าตั้งอยู่ที่ ๒๖๒ บ้านลาดหญ้า หมู่ ๑ ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีเนื้อที่ตั้งวัด ๔๖ ไร่ ๗๗ ตารางวา อาณาบริเวณวัดทุ่งลาดหญ้า ทิศเหนือ จดแนวถนน กาญจนบุรี เขื่อนศรีนครินทร์ฯ ทิศใต้ จด ตลาดบ้านลาดหญ้า ทิศตะวันออก จด ถนนพระครูสอน ทิศตะวันตก จด แม่น้ำแควใหญ่เหนือ

ประวัติการสร้างวัดลาดหญ้า

    หลังจากสิ้นสงคราม ไทย-พม่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ประชาชนเริ่มมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนริมน้ำแควใหญ่มากขึ้น การคมนาคมในสมัยนั้นต้องใช้ทางน้ำสัญจรไปมาจากเมืองท่ากระดาน เมืองศรีสวัสดิ์ ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป โดยการใช้แพ หรือเรือล่องตามลำน้ำแควใหญ่ ผ่านบ้านลาดหญ้ามาเมืองกาญจนบุรีที่ปากแพรก ขากลับทวนน้ำจะต้องเดินทางบก ทั้งไปและกลับจะต้องผ่านบริเวณบ้านลาดหญ้า ต่อมาชุมชนเริ่มหนาแน่นขึ้น จึงได้มีการก่อสร้างวัดขึ้นบริเวณลำน้ำแควใหญ่ ณ บ้านลาดหญ้า ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี จากหลักฐานที่ปรากฏ

รายนามเจ้าอาวาสปกครองวัด ดังต่อไปนี้

รูปที่ ๑ พระอธิการช่วงไม่พบหลักฐานว่าเป็นเจ้าอาวาสปกครอง วัดมาแต่ปีใด จากหนังสือทำเนียบสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๓๔๗) ปรากฏว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด มาก่อนแล้วในสมัยรัชกาลที่ ๕

รูปที่ ๒ พระอธิการแมว

รูปที่ ๓ พระอธิการกล่อม

รูปที่ ๔ พระกาญจนวัตรวิบูล (สอน อินฺทสโร) เกิดเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๘กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๕๐๙  ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๐-๒๕๐๙ 

รูปที่ ๕ พระมงคลสิทธิคุณ (ลำใย ปิยวณฺโณ) เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๔๖

รูปที่ ๖ พระครูสิทธิกิจจานุวัตร (ประเสริฐ อติเมโธ) เกิดเมื่อ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ ปกครองวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖-ปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พระมงคลสิทธิคุณ (หลวงพ่อลำใย ปิยวณฺโณ) ได้สร้างพิพิธภัณฑ์วัดทุ่งลาดหญ้า โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะ อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น เช่น วัดขุนแผน วัดแม่หม้าย วัตถุโบราณ ซากสัตว์โบราณ หม้อชามโบราณ และนิทานพื้นบ้าน เรื่องขุนช้าง-ขุนแผน เพื่อถ่ายทอดให้อนุชนรุ่นหลักได้ทราบ

ที่ตั้งของเมืองกาญจนบุรีเก่า

    วัดทุ่งลาดหญ้า เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองกาญจนบุรีเก่า ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของไทยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ ใกล้เขาชนไก่ มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๑๘๐ เมตร ยาว ๓๖๐ เมตร มีป้อมมุมเมือง ๔ มุม มีแม่น้ำแควใหญ่ เป็นเสมือนคูเมือง ด้านทิศตะวันตก และลำน้ำ ลำตะเพิน เป็นคูเมืองด้านทิศเหนือ มีป้อมเป็นเนินดิน ๔ มุม ภายในเมืองมีซากวัดต่างๆ ถึง ๗ วัด คือ วัดขุนแผน วัดนางพิมพ์ วัดแม่หม้ายเหนือ วัดแม่หม้ายใต้ วัดมอญ วัดจีน วัดป่าเลไลย์ และมีบริเวณที่เรียกกันว่า ตลาดนางทองประศรี ความสำคัญของเมืองกาญจนบุรีเก่า เป็นเมืองหน้าด่านตะวันตก ที่คอยสกัดทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด้านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นเส้นทางโบราณ ระหว่างเมืองมอญ กับ ไทย มี ๒ เส้นทาง คือ เส้นทางเหนือหรือเรียกว่าทางด่านแม่ละเมา และทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี โดยออกจากเมืองเมาะตะมะ ข้ามแม่น้ำอัตรัน (เมืองเชียงกราน) เมืองสมิ ข้ามแม่น้ำกษัตริย์ และข้ามภูเขา เข้าแดนไทยทางด่านเจดีย์สามองค์ มาลงน้ำแควน้อย จากสามสบล่องลงมาทางเมืองไทรโยคเก่า (ปัจจุบัน คือ บริเวณวัดดงสัก ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค แล้วตัดข้ามช่องกระบอก มาลงลำน้ำแควใหญ่ที่ เมืองศรีสวัสดิ์ หรือที่เมืองท่ากระดานด่านกรามช้างแล้วเดินเลียบแม่น้ำแควใหญ่จนถึงเมืองกาญจนบุรีเก่า ที่ทุ่งลาดหญ้า จากนั้นจะเป็นที่ราบเดินทางสะดวก เข้าสู่เมืองสุพรรณบุรี วิเศษไชยชาญ และเข้าตีกรุงศรีอยุธยา เมืองกาญจนบุรีเก่า จึงเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ ที่คอยสกัดกั้นทัพพม่า มาตั้งแต่สงครามครั้งแรก คราวรบพม่าที่เมืองเชียงกราน ในปี พ.ศ. ๒๐๘๑ และกลายเป็นเส้นทางเดินทัพไทย-พม่า ที่ทำสงครามต่อกันไม่น้อยกว่า ๑๕ ครั้ง ครั้งสุดท้ายที่เราเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ต่อมาไทยย้ายเมืองมาตั้งที่ กรุงธนบุรี ก็ต้องทำศึกกับพม่าอีก ๒ ครั้ง จนเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ กรุงเทพฯในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้เพียงสามปี คือ พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่าก็ยกทัพมาตีไทยถึง ๙ ทัพ ยกเข้ามา ๕ ทาง จำนวนพลกว่า ๑๔๔,๐๐๐ คน เราเรียกสงครามครั้งนี้ว่า การรบพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า สงครามครั้งนี้ กองทัพหลวงพระเจ้าปะดุง ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ พร้อมกองทัพอีก ๔ กองทัพ ผ่ายไทยได้ให้ กรมพระราชวังบวร มหาสุรสีหนาท มาสกัดทัพพม่าที่ ทุ่งลาดหญ้า ซึ่งเป็นวิธีคิดใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพราะทรงพิจารณาเห็นว่า ที่ทุ่งลาดหญ้าเป็นทางที่พม่าต้องเดินทัพเข้ามา ถ้าไทยสามารถรักษาทุ่งลาดหญ้าไว้ได้ กองทัพพม่าต้องตั้งอยู่บนภูเขาซึ่งเป็นที่กันดาร จะหาเสบียงอาหารเลี้ยงกองทัพ และจะเดินทัพก็ยาก เปรียบเหมือนข้าศึกต้องอยู่ในตรอก ไทยคอยสกัดกั้นอยู่ปากตรอก ถึงกำลังน้อยกว่าก็สู้ได้ ในที่สุดพม่าก็พ่ายทัพกลับไป ไม่สามารถยกทัพผ่านทุ่งลาดหญ้าไปได้ หลังจากสงครามเก้าทัพ สงครามไทย-พม่า ก็เริ่มเบาบางลง เส้นทางเดินทัพเปลี่ยนไป เมืองกาญจนบุรีเก่า จึงถูกทิ้งร้าง ถอยร่นลงมาสกัดทัพที่ปากแพรก หรือ ลิ้นช้าง ในครั้งแรกเพียงแต่ปักเสาระเนียดบนเชิงเทิน สมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดให้สร้างกำแพงเมือง ก่ออิฐถือปูน ในบริเวณที่ตั้งเมืองใหม่ ซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๔ เพื่อป้องกันข้าศึก และติดต่อค้าขายกับเมืองในลุ่มน้ำแม่กลอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสไทรโยคได้บันทึกเกี่ยวกับกาญจนบุรีไว้ว่า

แต่เมืองที่ตั้งอยู่ตำบลปากแพรกเดี๋ยวนี้ ไม่เป็นทางพม่าข้าศึกเข้ามาเลย ถ้าโดยจะเดินกองทัพมา คงข้ามที่เขาชนไก่เมืองเดิม ตัดไปสุพรรณบุรีเข้ากรุงทีเดียว ถ้าจะลงทางล่างก็เข้าราชบุรีไปเล่นสวนบางช้างสมุทรสงคราม แต่ที่ปากแพรกนี้เป็นที่ค้า ท่าขาย ด้วยเขาชนไก่เมืองเดิมนั้นขึ้นไปตั้งเหนือมาก มีแก่งถึงสองแก่ง ลูกค้าจะไปมาลำบาก จึงลงมาตั้งอยู่ที่ปากแพรกนี้ เป็นทางไปมาแต่เมืองราชบุรีง่าย เมืองที่ตั้งก่อกำแพงไว้นี้อยู่ที่แม่น้ำสามแยกตรงทางแม่น้ำน้อย เหมือนหนึ่งจะคิดรับทางเรือ แต่กองทัพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกมาครั้งนั้น ต้องส่งทัพหน้าไปตั้งที่ลาดหญ้ารับทางพม่าข้าศึก ทัพหลวงจึงตั้งอยู่ที่ลิ้นช้างกาญจนบุรี เมืองกาญจนบุรีเมื่อก่อนก็เป็นระเนียดไม้มาตลอด

และเสด็จพระราชดำเนินทรงม้าถึงทุ่งลาดหญ้า ทรงบันทึกว่า ถึงหนองบัว ลาดหญ้า จนถึงเขาชนไก่ ทาง ๕๙๐ เส้น ที่ลาดหญ้ามีหญ้ามากถ้าจะเลี้ยงช้างสักกี่ร้อยก็เลี้ยงได้ เป็นที่สำคัญในการศึก เมื่อเรายังทำศึกอยู่กับพม่า กองทัพเราตั้งรับ หรือกองทัพข้าศึกจะมาตั้ง ก็มักจะชิงเอาที่นี่ไว้ในกองทัพด้วยเป็นที่อุดม ได้อาศัยเลี้ยงพาหนะในกองทัพได้มาก ที่ เขาชนไก่ นั้น เป็นเมืองเก่าที่ยังมีวัดร้างอยู่ที่นั่น..เมื่อย้ายเมืองกาญจนบุรีมาอยู่ปากแพรกแล้ว มีการบูรณะสร้างวัดวาอารามขึ้นใหม่ เช่น วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) วัดถาวรวราราม (วัดญวณ) ทำให้วัดต่างๆที่เมืองกาญจนบุรีเก่า ถูกทิ้งร้าง ต่อมาได้มีการนำเอาพระพุทธรูปในวัดร้างไปเป็นพระประธานในอุโบสถ เช่น ที่วัดถาวรวราม (วัดญวณ) เป็นต้น


กาญจนบุรี ไหว้พระ (K209)
บริการรถตู้

Visitors: 109,545