มูลนิธิพัฒนรักษ์

“ มูลนิธิพัฒนรักษ์ ”
           หนาวนี้มีโอกาสไปเยือนสังขละบุรีน่าจะไปสัมผัสวิถีชุมชนของกลุ่มคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและมอญ พร้อมกับการเรียนรู้กิจกรรมดีๆ ด้วยวิถีพอเพียงตามแนวพระราชดำริภายในศูนย์ฯ มูลนิธิพัฒนรักษ์ สำนักงานสังขละบุรี หมู่ 3 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี สนใจโทร.08-1257-8538 ชาวชุมชนเวียคะดี้ยินดีต้อนรับปัจจุบัน อำเภอสังขละบุรี มีประชากรที่ถือบัตรประชาชนไทยเพียง 20,000 คน เท่ากับกลุ่มประชากรพลัดถิ่น ไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่หลายคนเรียกติดปากว่า คนชายขอบ ( marginal people ) ที่มีบัตรประชาชนสีต่างๆ เช่นสีฟ้า สีเขียวขอบแดง สีส้ม สีชมพู ส่วนที่ 2 คือรุ่นลูกของบุคคลที่ถือบัตรสีต่างๆ ส่วนที่ 3 คือบุคคลที่ตกสำรวจแต่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ทุกวันนี้ พื้นที่อำเภอสังขละบุรี ไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ เพราะบางรายมีที่ดินน้อย ไม่พอจะทำการผลิต ไม่มีความรู้ ไม่มีเงินจะลงทุน ไม่สามารถยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้านได้ จึงต้องจ่ายเงินซื้ออาหารเช่น ข้าว ไข่ ปลา หมู ไก่ จากจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และนครปฐม หากใครหารายได้จากในพื้นที่ไม่ได้ ก็ต้องอพยพออกไปทำงานนอกพื้นที่ ถูกกฎหมายบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมด้านต่างๆ ตามมาไม่จบสิ้น “มูลนิธิพัฒนรักษ์” ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็น จี โอ) ได้ร่วมมือกับสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย จัดทำโครงการพัฒนาอาชีพในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2554 ในรูปแบบกิจกรรม “ 3 อ.” คือ ส่งเสริมการผลิตอาหาร ส่งเสริมอาชีพและสนับสนุนกิจกรรมออมทรัพย์ หวังก่อให้เกิดการออม การยืมเงินช่วยเหลือซึ่งกันและกันช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้จัดงานเกษตรแฟร์ ภายใต้ชื่อ “เกษตรข้างบ้าน เพื่ออาหารและอาชีพ” ณ บ้านเวียคะดี้ ตำบลหนองลู บริเวณอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อช่วยเหลือ คนชายขอบ ในเขตชายแดนตะวันตก ได้มีโอกาสเรียนรู้กิจกรรมการเกษตรตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายในงานนำเสนอรูปแบบการทำเกษตรที่ง่าย หลากหลายชนิด เช่น ปลูก หัวบุก หัวกลอย มัน สาคู เผือก ฯ ทำให้มีคลังอาหารใต้ดินสำหรับบริโภคในครัวเรือนได้ยาวนาน และจัดเวทีกลางสำหรับแสดงสาธิตการตอนหมู การผสมปุ๋ยหมัก การทาบกิ่ง การเสียบยอด การติดตา เพื่อให้ผู้เข้าชมงานเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และจัดนิทรรศการ “รั้วกินได้” โดยปลูกพืชผักที่กินได้เช่น ชะอม ส้มป่อย มะรุม กล้วย โดยผู้ชมงานจะมีโอกาสเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูก การดูแลรักษา การคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่สนใจอยากทำการเกษตรตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พี่เสรี ทองมาก เลขาธิการมูลนิธิพัฒนรักษ์ ได้คำแนะนำว่า ให้เริ่มจากกิจกรรมที่ง่าย ต้นทุนต่ำ มีความเสี่ยงน้อย เรื่องที่ทำการผลิตไม่เพียงพอไม่ใช่ปัญหา ต้องรู้จักใช้พื้นที่และทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เช่น การสวนครัวรั้วกินได้ หรือ การทำแปลงผักลอยฟ้า โดยเน้นผลิตเพื่อกินก่อน เมื่อเหลือกินจึงค่อยนำไปขาย พยายามรวมกลุ่มกันออมทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือกันและกัน

เศรษฐกิจพอเพียง
                กว่า 15 ปีที่มูลนิธิพัฒนรักษ์มุ่งมั่นพัฒนาอาชีพเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนชายขอบที่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนด้านตะวันตกในพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และบริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ณ บริเวณที่ตั้งมูลนิธิพัฒนรักษ์ สำนักงานสังขละบุรี บ้านเวียคะดี้ หมู่ 3 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมและแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ครบวงจรสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานของคนในชุมชนและคนฝั่งประเทศเมียนมาร์ มีเนื้อที่เพียง 2 ไร่เศษ ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน 2 ชั้น 1 หลัง บ้านพักเจ้าหน้าที่ 1 หลัง และมีเรือนพักใช้วิธีการสร้างแบบน็อกดาวน์ 3 หลังไว้สำหรับต้อนรับผู้มาเยือน ส่วนพื้นที่ว่างถูกเนรมิตให้เป็นแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริแบ่งเป็นฐานเรียนรู้ต่างๆ มีทั้งพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น และกิจกรรมด้านปศุสัตว์ อาทิ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบคอนโด เลี้ยงสุกรพื้นเมือง ปลูกหญ้าเนเปียสำหรับเป็นอาหารโคและอื่นๆ มากมาย “กิจกรรมภายในศูนย์ฯ นอกจากใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของคนในพื้นที่และคนทางฝั่งเมียนมาร์แล้ว ผลผลิตที่ได้ก็จะนำมาขายเพื่อเป็นรายได้ของศูนย์ในการนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจกรรมต่อไป”
ดร.เสรี ทองมาก ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนรักษ์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมภายในศูนย์ ก่อนจะพาเดินเยี่ยมชมตามจุดต่างๆ เริ่มจากฐานเรียนรู้พืชผักสวนครัว ซึ่งเต็มไปด้วยพืชผักสมนุไพรนานาชนิด อาทิ ตะไคร้ ใบมะกรูด ขิง ข่า โหระพา พริกขี้หนูสวน มะเขือ กระถิน ผักบุ้ง ผักกาดขาว และอีกมากมาย ปลูกไว้บริเวณพื้นที่ใจกลางศูนย์ ล้อมรอบด้วยกิจกรรมด้านปศุสัตว์ เริ่มจากเล้าเป็ดไล่ทุ่งที่เลี้ยงแบบปล่อย คอกไก่ไข่ มีไก่อยู่ประมาณ 20 ตัว แต่ละวันจะมีไข่ออกมา 10-15 ฟอง ใกล้กันจะเลี้ยงกบคอนโด โดยใช้ล้อยางรถยนต์ซ้อนกัน 3-4 วงเพื่อใช้เลี้ยงกบ ส่วนฝั่งตรงข้ามจะทำเป็นคอกสุกรพื้นเมืองและบ่อเลี้ยงปลาดุกอุย สำหรับคอกเลี้ยงสุกรนั้น ดร.เสรีบอกว่าแต่เดิมเป็นคอกใช้เลี้ยงหมูหลุมอยู่บนพื้นดิน แต่โดนน้ำท่วมเมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อหลายปีก่อน จึงจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่เป็นแบบสองชั้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ปัจจุบันมีแม่หมูขุนอยู่ 2-3 ตัวและหมูพันธุ์พื้นเมือง
                  นอกจากกิจกรรมด้านการเกษตรและปศุสัตว์แล้วยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนแกงส้มป่อยปลาดุกย่างสำเร็จรูปบรรจุซอง โดยรับซื้อวัตถุดิบคือใบส้มป่อยจากชาวบ้านในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์มากนัก นอกจากนำมาปรุงเป็นอาหารในครัวเรือนเท่านั้น โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์จะมีชาวบ้านมาช่วยกันทำสัปดาห์ละครั้ง และในแต่ละปีจะผลิตได้เพียง 5-6 เดือนเท่านั้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ส้มป่อยแตกใบอ่อน ไม่เพียงกิจกรรมภายในศูนย์เท่านั้นที่รับผิดชอบดูแล แต่มูลนิธิยังมีเจ้าหน้าที่เข้าส่งเสริมอาชีพในชุมชน โดยเน้นให้เขารู้จักการออม ทำบัญชีครัวเรือนมีการรวมหุ้นจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในชุมชนเมื่อกว่า 5 ปีแล้ว ขณะนี้กลุ่มมีความเข้มแข็งมาก มีเงินทุนหมุนเวียนนับแสนบาทต่อเดือน วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์นอกจากให้บริการรับฝากเงินของสมาชิกยังเปิดจำหน่ายเครื่องมืออุปกรณ์ด้านการเกษตรทุกชนิด ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง แล้วยังเป็นสถานที่จำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปของสมาชิกในชุมชน “คนกลุ่มนี้เคยบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร แต่วันนี้ไม่มีแล้วพวกเขามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่อพยพเคลื่อนย้ายไหน เพราะพวกเขามีอาชีพ มีรายได้อย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต แม้จะมีพื้นที่อันจำกัดนี้ บางคนไม่มีงาน แต่กลับมีรายได้จากการขายผลผลิตนับหมื่นบาทต่อปี แถมยังมีเงินเก็บและมีการออมเงินในนามกลุ่มออมทรัพย์อีกต่างหาก จากเริ่มต้นเพียงไม่กี่ครอบครัว จนถึงวันนี้มีมากกว่า 3,000 ครัวเรือนแล้วที่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์” ผู้จัดการมูลนิธิเผยข้อมูล พร้อมย้ำว่าขณะนี้ทางมูลนิธิได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจวิถีชุมชน สัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนชายขอบ พร้อมความงามทางธรรมชาติที่ไม่อาจเห็นได้ในเมืองใหญ่ โดยมีเรือนพักอิงธรรมชาติไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจ สนนราคา 850 บาทต่อท่าน(2 วัน 1 คืน รวมอาหารพื้นบ้าน 2 มื้อ) พร้อมลงพื้นที่สัมผัสวิถีชุมชนอย่างเต็มอิ่ม

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
พี่เสรี 081 257 8538 หรือ คุณกุ๊กไก่ 091 887 9201
หมู่ 5 99/1 ตำบล หนองลู อำเภอ สังขละบุรี กาญจนบุรี 71240
การเดินทาง
มูลนิธิพัฒนรักษ์ สำนักงานสังขละบุรี ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอสังขละบุรีไปทางทิศตะวันตกราว 20 กิโลเมตร(ติดชายแดนไทย-เมียนมาร์) เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาทีจากตัวอำเภอสังขละบุรี เลยชุมชนบ้านเวียคะดี้ไปเล็กน้อย เจอป้ายมูลนิธิพัฒนรักษ์ สำนักงานสังขละบุรี ริมถนนฝั่งซ้ายบริเวณปากทางเข้าจากนั้นเลี้ยวเข้าไปประมาณ 50 เมตรก็ถึงบริเวณที่ตั้งของสำนักงาน


http://www.komchadluek.net

 


ชื่อผู้ตอบ:


  • เนินพอกิน
    *****ประกาศปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้เนินพอกิน ขาดวิทยากรคอยให้ข้อมูล เนื่องจากปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งการผลิตหากผู้ที่สนใจเข้าศึกษาดูงานให้ติดต่อไปที่ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน พุทธสถานปฐ...

  • ศูนย์กสิกรรม ท่ามะขาม
    ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม***ติดต่อศูนย์กสิกรรมท่ามะขาม ที่ 213 ม.2 ซอยพัฒนา 1 ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรีมือถือ 081-857-2500 และ 081-378-2209 ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ...

  • หนองสาหร่าย-01.jpg
    ชุมชนตำบลหนองสาหร่ายต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ. กาญจนบุรีโทร 089 083 1060 คุณปลา เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเคยได้ยินคำว่า “เงิน ซื้อไม่ได้ทุกอย่างในชีวิต” แต่แทบทุกอย่าง...
Visitors: 110,119