ถนนปากแพรก

ถนนปากแพรก ย่านเก่าเล่าเรื่องเมืองกาญจน์

ย่านเก่าปากแพรก
เป็นชุมชนตลาดเก่าแก่ของกาญจนบุรี เต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่ ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตก และตะวันออก ไว้อย่างงดงาม ภายใต้บรรยากาศการค้าขายอันเป็นจริงเป็นจัง มีชีวิตชีวา สามารถมาเดินเที่ยวเล่นได้ภายในเวลา 1 วัน โดยขับรถผ่านเข้ามากลางตัวเมืองกาญจนบุรี แยกซ้ายทางที่จะไปศาลหลักเมือง เมื่อพ้นแนวประตูเมืองเก่า ถนนปากแพรกจะตัดขนานลากยาวไปตามย่านเก่า ไล่เลยไปจนสุดทางที่วัดเทวสังฆาราม หรือ วัดเหนือ
นอกจากนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าเมืองกาญมีถนนคนเดินที่น่ารักไม่แพ้จังหวัดไหนเลย ที่บริเวณถนนปากแพรกแห่งนี้นี่เอง  ในส่วนของถนนคนเดินจะมีทุกวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 16.00น ถึง 21.00น ซึ่งเต็มไปด้วยร้านค้าร้านอาหารท้องถิ่นมากมายให้เลือกซื้อ เลือกรับประทานได้อย่างเต็มที่กันเลยทีเดียว

ถนนคนเดินปากแพรก


บทความ

ปากแพรก ถนนสายสั้น คืนวันทอดยาว (อสท.)

เรื่อง: ฐานกูร โกมารกุล ณ นคร

ภาพ: สาธิต บัวเทศ

          ในแรกเช้าที่ถนนเล็ก ๆ สายหนึ่งยังคงความเคลื่อนไหว บ้านเรือนร้านค้าเต็มไม้ด้วยคืนวันแห่งการแลกเปลี่ยนผมย้อนคิดไปถึงวันเวลาที่ไม่เคยสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ห้วงหนึ่งของสงคราม ความแร้นแค้น หรือกระทั่งสิ่งที่เรียกว่า "มิตรภาพ"
         เกือบร้อยปีก่อน เรื่องราวเหล่านี้ปะปนอยู่บนถนนสายเล็กแสนเก่าแก่ริมแม่น้ำแควใหญ่ของเมืองกาญจนบุรีอวลอยู่ในอาคารโบราณแสนคลาสสิก ในดวงตาและถ้อยคำของผู้ที่ร่วมสัมผัสด้านหนึ่งของมันมา ทั้งที่เป็นความทรงจำและสิ่งที่บางคนอยากลืมเลือน
 


        หลายวันกับที่นี่ ผมและเพื่อนมักใช้ชีวิตไปซ้ำๆ บนความยาวร่วม 2 กิโลเมตรของถนนที่ชื่อว่าปากแพรก รอบด้านคืออาคารเก่าแก่ที่สร้างมาเนิ่นนาน รวมไปถึงสินค้าประดามีที่เติมเต็มให้ภาพความเป็น "ตลาด" ชัดเจน มีชีวิตชีวา บางสิ่งผ่านไปไม่สนใจการเคลื่อนหมุนของนาฬิกา หลายคนเรียกมันว่าการเปลี่ยนแปลง หากใครสักคนจะเก็บจำบางห้วงเวลาไว้ อาจไม่ใช่เรื่องของการเจ่าจม ไม่เข้าใจธรรมชาติของโลก
           อาจเพราะบางนาที สิ่งเล็กๆ เหล่านี้ก็มีค่าเพียงพอกับการหวงแหน ดูแล และเก็บมันไว้เคียงคู่กับการพัดพาของวันเวลา
          แดดสายของฤดูฝนอาบไล้แสงอุ่นๆ ทาบลงบนอาคารไม้ผสมปูนตรงปลายตลาดเก่า ลวดลายประดับอาคารชัดเจนละเอียดลออผู้คนมากมายคึกคัก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนปากแพรก ถนนสายเก่าแก่ที่สุด ที่บอกกับผู้มาเยือนเมืองกาญจนบุรีได้ว่า ที่นี่คือจุดต่อยอดความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของเมืองกาญจน์อย่างจริงแท้
          กาญจนบุรีเก่าแก่ด้วยชุมชนโบราณ แหล่งสืบค้นด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ตกทอดอยู่ในโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย ทั้งบนภูเขา ผืนดิน หรือแม้แต่ในพิพิธภัณฑ์
          ผ่านเลยต่อยอดมาจนก่อร่างสร้างเมืองเก่าที่ทุ่งลาดหญ้า ครั้งสมัยอยุธยาเป็นราชธานี หน้าประวัติศาสตร์ห้วงนั้นรับรู้ว่า กาญจนบุรีคือ เมืองหน้าด่านที่มีความสำคัญกับการอยู่รอดของไทย ด้วยอยู่ในเส้นทางของศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า เป็นสมรภูมิรบหลายครั้งหลายหน
          จนเมื่อแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลริมน้ำแควใหญ่อย่างปากแพรก จึงกลายเป็นเมืองกาญจนบุรีใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2374 ป้อมปราการ กำแพงเมืองต่างๆ คือสิ่งตกทอดสู่คนรุ่นหลัง และที่สำคัญ การลงหลักปักฐานของผู้คนรายรอบล้วนก่อให้เกิด "เมือง" ขึ้นมาตามกาลเวลา
     ผู้คนในย่านปากแพรกปะปนอยู่ทั้งคนญวนซึ่งโยกย้ายมาจากการอพยพเทครัวด้วยอิทธิพลของสงครามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงคนจีนอพยพที่มีส่วนทำให้ปากแพรกมากไปด้วยบรรยากาศแห่งการซื้อขาย ก่อเกิดความเป็นย่านตลาดอันสำคัญที่สุดของกาญจนบุรีเรื่อยมา
          ณ ริมฝั่งน้ำแควใหญ่ หลายอย่างปรับเปลี่ยนปะปน หากสิ่งที่ไม่เคยจางคลายล้วนถ่ายทอดอยู่ในชีวิตของพวกเขา ในเรื่องเล่าแห่งวันคืน ในตึกเก่าคร่ำที่เรียกว่า บ้าน
 
          ทุกเช้าผมมักพบตัวเองอยู่แถวต้นถนนปากแพรก ในห้องแถวปูนสีเหลือง 3 คูหาที่บ้านสิทธิสังข์ ใครเลยจะพลาดบรรยากาศเช่นนี้ไปได้ ตึกเก่างดงามหลังนี้สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2463 สมัยรัชกาลที่ 5 โค้งอาร์กที่ชั้นบนนั้นดึงสายตาให้ออกมายืนมองที่ฝั่งตรงข้าม มองไล่ตั้งแต่บานเฟี้ยม เห็นชัดไปถึงช่องลมเหนือกรอบประตูที่งามด้วยงานฉลุไม้เป็นลายเครือเถา รวมปีถึงภาพปูนปั้นลายก้านขดเพลินตา
ร้านกาแพสิทธิสังข์

          ฝั่งตรงข้ามกันคือภาพปัจจุบันของโรงแรมสุมิตราคาร โรงแรมแห่งแรกของกาญจนบุรี ที่ทุกวันนี้ทั้ง 5 คูหาของห้องแถวไม้กลายเป็นร้านขายอาหารสัตว์ รวมไปถึงแยกห้องปล่อยเช่า ว่ากันว่าในอดีตสมัยที่ทางน้ำยังคึกคัก ที่นี่เป็นจุดรวมของคนมาติดต่อราชการ รวมไปถึงพ่อค้าไม้ที่ล่องลงมาจากแถบทองผาภูมิและสังขละบุรี
 
          เราเดินเลาะเรื่อยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของถนนปากแพรก รอบด้านคือความหอมหวานของวันวานจากตึกแถวหน้าตาโบราณที่ขนาบข้าง ในห้องแถวปิดเงียบหลายหลังร้างรากิจการเดิมๆ ไป หากแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนอยู่ พวกเขาผ่านพ้นช่วงการค้าอันเฟื่องฟูของตน และนั่งมองความเป็นไปรวมถึงการเติบโตของคนรุ่นลูกหลานอยู่อย่างเงียบ ๆ
 
         "ตลาดมาเติบโตสุดก็ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นละ" และเมื่อมาถึงบ้านบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ คนในบ้านอย่างคุณป้าลำไย สิริเวชชะพันธ์ ก็ทำให้ผมรู้ว่า ที่ปากแพรกและไล่เลยไปถึงขุนเขารายรอบของเมืองกาญจน์ ล้วนผ่านห้วงเวลานั้นมาอย่างน่าจดจำ
 
          เราคุยกันถึงคนที่มีชื่ออยู่ที่ป้ายหน้าตึกแถว 3 ชั้นหลังแรก ๆ ของปากแพรก บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ตึกกึ่งปูนกึ่งไม้อันงามโอ่อ่าหลังนี้มีส่วนเสี้ยวของสงครามโลก ครั้งที่ 2 แฝงฝังอยู่
          "ช่วงสงครามโลก พ.ศ.2485 ญี่ปุ่นเข้ายืดเมืองกาญจน์เพื่อสร้างทางรถไฟเชื่อไปพม่า ตอนนั้นบ้านเราเต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่น ที่เข้ามากำหนดในเรื่องการค้า" ช่วงนั้นป้าลำไยซึ่งเป้ฯน้องสะใภ้ของบุญผ่องเพิ่งมารับราชการครูได้ไม่นาน เรื่องราวต่าง ๆ ล้วนมาจากคำบอกเล่าในเวลาต่อมา

 กาญจนบุรี 3 วัน 2 คืน (K301)

          ปากแพรกในยามนั้นคือแหล่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ "ใกล้" ที่สุด ของค่ายทหาร ร้านเค้ากลางตลาดหลายแห่งถูกผูกขาดการค้าขายกับญี่ปุ่น รวมถึงตึก 3 ชั้นของนายบุญผ่องหลังนี้ "เขาส่งหัวหน้าค่ายเชลยมารับสินค้า เขาสั่งอะไรมาเราก็รับและมาแบ่งการจัดหาให้ส่งไปถึงค่ายทั้งทางรถ ทางเรือ" โมงยามนั้นไม่มีใครรู้ว่าสงครามและภาวะ "กดดัน" เช่นนั้นจะยืดเยื้อยาวนานสักเท่าไร
 
"คนเรามันมีหัวใจน่ะ" ป้าลำไยพูดลอย ๆ เมื่อมองรูปพี่เขยที่หน้าบ้าน
 
          ใน พ.ศ. นั้นไม่มีใครรู้ว่า ชายที่ชื่อบุญผ่อง ทายาทของร้านสิริโอสถ จะกลายเป็น "วีรบุรุษสงครามของทางรถไฟสายมรณะ (A War Hero Named Boonpong of Deathrailway)" ในเวลาต่อมา "พี่เขาเห็นใจเชลยสงครามที่ต้องทุกข์ทรมานในค่าย ทั้งความอดอยากไข้ป่า รวมถึงความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่น"
 นายบุญผ่อง
          การช่วยเหลือเชลยศึกทั้งชาวออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ที่ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟเป็นไปอย่างเงียบเชียบภายใต้ภาพคลุมของการค้าขายกับค่ายทหาร หยูกยาถูกซุกซ่อนในแข่งผักยาสีฟัน เครื่องนุ่งห่ม เงินทองที่ให้หยิบยืมโดยไม่รู้ถึงโอกาสที่จะ "ได้คืน" มากไปกว่านั้นคือการส่ง "จดหมายลับ" ต่างๆ ที่ติดต่อกับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในกรุงเทพฯ อย่างองค์การลับวี (V. Men Club) ไปสู่เชลยศึก เหล่านี้คือความเสี่ยงภัยที่คนคนหนึ่งยินดีแลกเพื่อเห็นแก่คำว่าเพื่อนมนุษย์
 
          แม้ในวันที่สงครามสิ้นสุด หลายคนก็ยังทึ่งกับการบอกพิกัดการทิ้งระเบิดทำลายสะพานข้ามแม่น้ำแคว อันเป็นจุดยุทธ์ศาสตร์สำคัญได้อย่างแม่นยำของฝ่ายสัมพันธมิตร "สะพานมันอยู่ในป่าในดงน่ะ ใครจะไปเห็นได้ชัด ตอนนั้นเชื่อได้ว่าพี่บุญผ่องต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระเบิดลงถูกจุด"
 
          หลังความโหดร้ายผ่านพ้น ในปากแพรกตกทอดอยู่ด้วยเรื่องเล่าแห่งสงครามตามความทรงจำของคนที่ร่วมผ่านมันมา บุญผ่องย้ายไปปักหลักที่กรุงเทพฯ ทำธุรกิจรถเมล์โดยสารก็จากรถร่วม 200 คันของกองทัพญี่ปุ่นที่เหลือจากศึกสงคราม ซึ่งทางฝ่ายสัมพันธมิตรมอบให้เป็นการตอบแทน
          
          ยังไม่รวมถึงความซาบซึ้งในน้ำใจต่อคนเล็กๆ คนหนึ่งในถนนปากแพรก ที่ย้อนกลับมาเป็นเงินทองที่ได้รับการชดใช้ การได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือยศพันโทจากกองทัพอังกฤษ
 
          ผมนั่งอยู่ตรงหน้าบ้านบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ กับพี่น้องและลูกหลานเครือญาติของบุญผ่อง ด้านหน้าจัดแสดงเรื่องราวของความช่วยเหลือระหว่างคนไทยกับเชลยศึกในห้วงสงคราม
 
          ในตึกแถวโบราณแสนสวยโอ่อ่าที่ชั้นบนมีช่องลมใส่กระจกทึบสีสวยนั้น มากอยู่ด้วยเรื่องราวของคืนวัน และทำให้เห็นว่า คนเรานั้นมีขนาดของหัวใจที่ยิ่งใหญ่เพียงไร
 
          ถนนปากแพรกไม่กว้างนัก หากเป็นช่วงเวลากลางวันที่ร้านรวงต่างๆ เปิดค้าขายจะเรียกว่าแคบเลยก็ไม่ผิด จากฝั่งตรงข้ามบ้านบุญผ่องฯ ที่เป็นร้านบุญเยี่ยมเจียระไน (คุ้มจันทร์ศิริ) อันสวยงามโดยเด่นด้วยช่องโค้งตั้งรับเสาที่ระเบียงชั้นบน เราเดินผ่านความเก่าแก่กว่า 177 ปีของถนนเส้นนี้ไปอย่างมีชีวิตชีวา
 
ถนนปากแพรก ร้านชวนพาณิชย์
 
          "บ้านตึกแต่ก่อนนั้นสร้างดี ใช้ของดี มันเลยทนนาน" ในแสงสลัวของร้านชวนพานิช ผมเดินผ่านเข้าไปนั่งคุยกับลุงสุรพล ตันติวานิช ในวันที่เลขหลัก 5 มาเยือนชีวิต และตึกแถว 3 ห้องแห่งนี้ ดูแลเพาะบ่มตระกูลของเขามากว่า 5 รุ่น
 
        "เดี๋ยวนี้ไม่ได้ขายของเหมือนรุ่นก๋งรุ่นเตี่ยแล้ว มันค่อยๆ จางไป" เป็นคำพูดที่คล้ายๆ กันของคนที่อยู่ในห้องแถวย่านตลาดของปากแพรก อาจคล้ายการค้าโบราณได้ซบเซา แต่จริงๆ แล้วคือคนรุ่นบรรพบุรุษล้วนผ่านการสร้างตัว และมั่งคั่งจนลูกหลานในปัจจุบันนั้น สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบากอะไรนัก
 
          เข้ามานั่งอยู่ในร้านชวนพานิช ลุงสุรพลชี้ชวนให้ดูตู้สินค้าไม้สักใหญ่โตที่ติดอยู่กับผนัง เขาว่ามันไม่เคยมีปัญหาให้ต้องซ่อมแต่อย่างไร "ไม้พวกนี้ก็เหมือนกับที่ก๋งใช้สร้างบ้าน มาจากป่าเขาที่ทองผาภูมิโน่น"
 
          นอกเหนือไปจากไม้ ปูนพอร์ตแลนด์ที่ต้องสั่งมาจากเมืองนอกก็เป็นที่นิยมในสมัยนั้น "บ้านใช้ปูนหล่อทั้งหลัง ใช้ใบเหล็กเสียบเป็นบล็อกแล้วหล่อปูนลงมาเลย ผนังหนามาก ไม่เย็นก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว" ตอนนั้นบ้านใหญ่โตทั้งหลังอย่างนี้ คนรุ่นก่อนใช้เงินสร้างไปถึง 9,000 บาท "เป็นเดี๋ยวนี้ก็หลายอยู่นะ"
 
          เราคุยกันเรื่องบ้านของลุงอยู่อีกนาน หลายส่วนนั้นมีคำบอกเล่าอธิบายอย่างน่าทึ่ง ช่องตรงกลางบ้านที่เรียกว่า "แจ๊" นั้นไม่เพียงให้ลมระบาย แต่ยังมีไว้ขนถ่ายสินค้าขึ้นไปเก็บ "แต่ก่อนมีรอกโยงจากหลังคาเลย บ้านตึกมันขนข้าวของขึ้นลงลำบาก คนขนสินค้าลงเรือ เดินแป๊บเดียวก็ขึ้นมาหน้าบ้านเลย"
 
          ลุงว่าแต่ก่อนแม่น้ำไม่ได้ไหลห่างบ้านและต่ำลงไปแบบนี้ "ก่อนหน้านี้มีคลองนอก คลองใน สันดอนมันกว้าง หน้าน้ำมาทีก็รวมเป็นสายเดียว สมัยนายกเทศมนตรีนิทัศน์ ถนอมทรัพย์ นั่นละที่ถมตลิ่งให้มันกว้างออกไป บ้านเรือนขยายตัวไปอีกกว้าง แม่น้ำเลยไปอยู่ข้างล่างเขื่อนโน่น"
 ถนนปากแพรก

          ติดกันคือร้านมาโนช ราดิโอ ที่เจ้าของร้านเป็นญาติของลุงสุรพล ซึ่งต่อมาไปเป็นสมาชิกสภาจังหวัด คือมาโนช ถนอมทรัพย์ "แต่ก่อนใหญ่ที่สุดในเมืองกาญจน์ ใครอยากทันสมัยก็มาที่นี่ละ" ทุกวันนี้ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่มี "สัมพันธภาพ" ระหว่างคนซื้อคนขายเช่นนี้หลงเหลืออยู่ไม่มากนัก ก็อย่างที่ลุงสุรพลว่า "มันเกิดมาแบบเครือญาติ ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน"
 
          หากการก่อเกิดของย่านสักแห่งมีที่มาเช่นนี้ คงไม่แปลกที่ใครสักคนอาจไม่เลือกจากไปไหนแม้ในบั้นปลายชีวิตเลาะผ่านความคึกคักที่สุดของปากแพรกตรงจุดที่ถนนจากตลาดตัดมาเป็นสี่แยกเล็กๆ แยกซ้ายไปลงแม่น้ำ ส่วนแยกขวานั้น เป็นวันเวย์ มองเห็นกลุ่มตึกแถวในยุคหลังที่สร้างโดยตระกูลตันติวานิชเหยียดยาว ภายในล้วนสะท้อนความเป็นย่านตลาดใหญ่ ร้านแหวนพลอยเก่าแก่อย่างร้านอาภรณ์ผ่านพ้นคืนวันมาคู่กันกับคุณลุงคุณป้าที่ส่งยิ้มให้ผมทุกวัน
 
          เราเดินมาหยุดอยู่หน้าโรงแรมกาญจนบุรีที่คร่ำเก่าทรุดโทรม แต่ตึก 3 ชั้นที่สร้างด้วยปูนพอร์ตแลนด์ทั้งหลังก็ยังขรึมขลังราวฉากหนังพีเรียดสักเรื่อง ว่ากันว่านี่คือโรงแรมที่เคยทันสมัยที่สุดในเมืองกาญจน์ ห้องพักทั้ง 14 ห้องนั้นเต็มแน่นอยู่เกือบตลอดปี
 
          "50 กว่าปีแล้วที่ฉันเห็นโรงแรมนี้มา" คุณป้าวิไล นัยวินิจ ชวนผมเข้าไปนั่งที่บ้านฮั้วฮงที่ฝั่งตรงข้ามโรงแรม บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้นของคุณป้าสวยเนี้ยบ ไม่เคยห่างหายการดูแล เชิงชายที่หล่อเป็นปูนประดับนั้นน่ามองพอๆ กับบานประตูสีสวยเหยียดยาว 3 ห้องที่ชั้นสอง บนดาดฟ้ามีลวดลายและตัวอักษรจีนเขียนไว้ว่า "ตั้งฮั้วเฮง" อันหมายถึงผู้สร้างที่เป็นคนรุ่นปู่ทวด
 
          "แต่ก่อนหน้าบ้านคึกคัก ใครมาเมืองกาญจน์ก็มาพักที่นี่" โรงแรมที่เรียกว่า "ทันสมัย" ที่สุดเมื่อ 50 กว่าปีก่อนนั้น เป็นที่รวมของข้าราชการ พ่อค้าไม้ รวมถึงขนกลุ่มน้อยที่ลงมาซื้อหาสินค้ากลับไปสู่บ้านป่าเมืองไม้แถบทองผาภูมิ "แต่ก่อนคืนละ 2 บาท 4 บาท นี่นานโขแล้วนะ" ยังมีภัตตาคารนำกรุงที่ชั้นล่างอีก ที่ป้าบอกกับผมว่า ใครแต่งงานที่นี่ถือว่าโก้ที่สุด "อาหารเหลาอย่างดี เสียงเฮฮาดังตลอดค่ำคืนเชียวละหลาน"
 
          ถัดจากบ้านฮั้วฮงมาไม่ไกล ติดกันกับศิวภา ชุดห้องแถวสีแดงหม่นที่เก็บความสวยไว้ที่การก่ออิฐตามผนังและป้ายร้านแสนคลาสสิก ตรงข้ามกับก๋วยเตี๋ยวหมูเจ้าอร่อยของปากแพรก คือบ้านแต้มทอง ที่มีอายุราว 100 ปี สร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อนช่างภาพหลงใหลและให้ความสำคัญกับซุ้มประตูแบบจีนตรงหน้าบ้าน เขาว่าเหมือนฉากในหนังภาพยนตร์กำลังภายในสักเรื่อง
 
          ทุกวันเรามักมาพักการเดินเที่ยวปากแพรกกันที่บ้านหลังนี้ มันสวยงามและแลดูลึกลับเมื่อเทียบกับหลังอื่นๆ ด้วยกำแพง จั่วกระเบื้องมุงหลังคาคร่ำคร่า ว่ากันเจ้าของเดิมคือนายฮะฮ้อและนางแฉ่ง แต้มทอง สร้างบ้านตึกหลังแรกนี้ด้วยการพาช่างชาวจีนโพ้นทะเลข้ามมาสร้าง และปักหลักเปิดบ้านหลังนี้เป็นร้านค้าในชื่อยี่กงชี
 
          ความเป็นย่านตลาดของปากแพรกลดการบีบอัดเมื่อเราเดินผ่านมาถึงกลุ่มบ้านโบราณ แม่น้ำโยนลมบ่ายขึ้นมาคลายร้อนหลังจากฟ้าอัดอ้าวเมฆฝนมานาน บ้านสุธีสวยเหงาอยู่ในรูปแบบบ้านทรงปั้นหยา มองผ่านซุ้มประตูขึ้นไปเห็นลายปูนปั้นเครือเถาตรงมุขหน้าจั่วแทรกคำว่า "ธนโสภณ" ไว้ตรงกลาง อันเป็นชื่อสกุลของนายโหงวฮก ธนโสภณ ผู้สร้างบ้านก่ออิฐถือปูนแสนโอ่อ่าหลังนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

ถนนปากแพรก บ้านนิวาสแสนสุข
 
          ถัดไปไม่ไกลบนฝั่งเดียวกันคือบ้านนิวาสแสนสุข บ้านไม้ทรงปั้นหยาที่เติบโตมาเคียงคู่กับบ้านสุธีในรั้วรอบขอบชิด สภาพสมบูรณ์ที่ได้รับการดูแลอย่างดีกลางความร่มรื่นนั้นบ่งบอกว่า ผู้ที่ต่อยอดดูแลล้วนให้ความใส่ใจกับบ้านอายุ 5๐ ปีหลังนี้เพียงใด
 
          ถนนปากแพรกลากผ่านไปสิ้นสุดที่วัดเทวสังฆาราม หรือวัดเหนือ ห้องแถวแถบปลายๆ ถนนนั้น ปะปนกันไปทั้งเก่าคร่ำและที่ได้รับการดูแลเปลี่ยนผ่านมาถึงปฏิทินฉบับปัจจุบัน บางหลังเคยเป็นบ้านเช่าของนายทหารญี่ปุ่น ที่ภายหลังขุดพบอุโมงค์ลับที่ขุดจากในตัวบ้านออกไปจนถึงแม่น้ำแคว
 
          ขณะที่ตรงปลายถนน ห้องแถวเล็กๆ ชั้นเดียวอย่างบ้านชิ้นปิ่นเกลียวก็สะท้อนรูปแบบของเรือนแถวเชิงช่างเวียดนามโบราณ และการปักหลักของคนญวนในปากแพรกไว้ตามโค้งประตู กระเบื้องดิน บานเฟี้ยม ที่มีอายุถึง 134 ปี ทุกส่วนโทรมทรุดซีดจาง ราวกับเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นจริงและสัจธรรมของสิ่งที่เรียกว่ากาลเวลา
     
          ผมใช้เวลาอีกสองสามวันบนถนนปากแพรก แวะไปตามห้องแถวและบ้านเรือนอีกหลายแห่งที่เก่าแก่ และมาไปด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอย่างที่หลายคนให้คำจำกัดความ บางแห่งเปลี่ยนแปลงหน้าตาสินค้า บางหลังต่อยอดกิจการสู่รุ่นลูกหลาน และก็มีไม่น้อยที่ปิดเงียบ เหลือเพียงชีวิตผ่อนคลายด้านใน
 
          ต่อหน้าแม่น้ำหนึ่งที่ไหลเอื่อยอยู่เบื้องล่างอย่างไม่เคยเหือดแห้งถนนสายหนึ่งเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุดมา 177 ปี ใช่เพียงอาคารบ้านเรือนและส่วนประดับอันตกสะท้อนถึงคืนวันยาวนาน อย่างถึงที่สุด ข้างในนั้นอาจซ่อนอยู่ด้วยแววตาบางประเภท
          แววตาที่เต็มไปด้วยความห่วงหาอาทร และพร้อมจะมองเข้าไปในชีวิตที่ผ่านพ้นอย่างปีติสุข ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะดำเนินไปหรือจบลงเช่นไรก็ตาม
 

ขอบคุณ

          คุณลำไย สิริเวชชะพันธ์ คุณสุรพล ตันติวานิช คุณวิไล นัยวินิจ และพี่น้องชาวปากแพรกทุกคน สำหรับข้อมูล มิตรภาพ และรอยยิ้มตลอดการทำงาน


กาญจนบุรี ไหว้พระ (K209)

คู่มือนักเดินทาง

          รถยนต์ ไปตามถนนเพชรเกษมหรือไปตามถนนบรมราชชนนี ผ่านนครชัยศรี นครปฐม บ้านโป่ง ท่ามะกา ท่าม่วง ถึงจังหวัดกาญจนบุรี รวมระยะทาง 129 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือช้างพิเศษเฉลิมมหานคร สอบถามเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 1543

          รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ รถปรับอากาศขั้นหนึ่ง (วิ่งสายใหม่ เส้นถนนบรมราชชนนีนครชัยศรี) ออกทุก 20 นาที เวลา 05.00-22.30 นาฬิกา รถปรับอากาศชั้นสอง ออกทุก 2๐ นาที มีบริการ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางสายเก่า (ถนนเพชรเกษม-อ้อมใหญ่-นครชัยศรี) และเส้นทางสายใหม่ (ถนนบรมราชชนนี-นครชัยศรี) เวลา ๐5.10-21.00 นาฬิกา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง

         สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กาญจนบุรีทัวร์ โทรศัพท์ 0 2435 5012 เว็บไซต์transport.co.th รถไฟ ออกจากสถานีรถไฟบางกอกน้อย วันละ 2 เที่ยว เวลา 07.40นาฬิกา และ 13.50 นาฬิกา แวะจอดที่สถานีกาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว ท่ากิเลน สถานีน้ำตก ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย โทรศัพท์ 0 2411 3102 หรือ 1690 www.railway.co.th

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี โทรศัพท์ 0 3451 1200 และ 03451 2500

 


 

 สถาปัตยกรรม โบราณย่านปากแพรก

1. ‘Pig gable’ House 

Probably the most outstanding feature of this building is its gable characterized by the stucco floral decoration featuring a pig.   Sitting half-way of Pak Praek street and facing the old city gate, this two-storey half-wood half-concrete building stands out well among others due to its neatly wood carving of its double casement windows. It was built in 1915 as evidently recorded on its unique gable. The house belongs to Setabhand family.

OwnerMr. Somjit Setabhand

Year built:1915

 บ้านหน้าจั่วรูปหมู

บางทีลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของอาคารหลังนี้อาจจะเป็นหน้าจั่วที่มีเอกลักษณ์ด้วยลวดลายปูนปั้นรูปหมูในวงล้อมของลายดอกไม้  บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้หลังนี้ตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของถนนปากแพรก หันหน้าไปหาประตูเมืองเก่า และโดดเด่นแตกต่างจากอาคารบ้านเรือนหลังอื่นๆ ด้วยลวดลายฉลุบนกรอบหน้าต่างบานคู่ที่ประณีตสวยงาม บ้านหลังนี้ปรากฏว่าสร้างขึ้นในปี ๒๔๕๘ ตามหลักฐานบนหน้าจั่วที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของบ้าน  บ้านหลังนี้เป็นของตระกูลเสตะพันธุ์

เจ้าของนายสมจิตต์ เสตะพันธุ์

ปีที่สร้าง๒๔๕๘

 ถนนปากแพรก บ้านหน้าจั๋วรูปหมู

 

 

2. Sahakul Panich House 

The concrete building was built in a similar style as other buildings from the same period (King Rama V) such as Sitthingsang house and Boonyiam Jewelry shop.  The construction was done by Chinese and local craftsmen. It has parapets in the same pattern both on the balcony and on the rooftop.  The arch over the balcony apparently helps soften the concrete structure.     During WWII period, it was rent to high-ranking Japanese army officers who turned the upper floor of the house into a weapon storage.

OwnerMiss Walee Laohakul

Year built:estimated 1927

 บ้านสหกุลพาณิชย์

อาคารตึกหลังนี้สร้างขึ้นในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันกับอาคารอื่นๆ ร่วมยุคสมัย (รัชกาลที่ ๕) เช่น บ้านสิทธิสังข์และบ้านบุญเยี่ยมเจียระไน  ผู้สร้างเป็นช่างชาวจีนและช่างท้องถิ่น สิ่งที่โดดเด่นคือราวลูกกรงบนระเบียงชั้นสองและบนดาดฟ้า ซุ้มโค้งเหนือระเบียงช่วยทำให้โครงสร้างตึกดูอ่อนช้อยขึ้น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เคยเป็นบ้านพักของนายทหารญี่ปุ่น  ซึ่งได้เปลี่ยนชั้นบนของบ้านเป็นสถานที่เก็บปืนกล  
 

เจ้าของนางสาววลี เลาหกุล

ปีที่สร้างประมาณ ๒๔๗๐

 

3. The hotel Sumitrakharn 

One of the main buildings on the old town street that deserves visitors’ special attention is the hotel Sumitrakharn, the first accommodation of its kind in Kanchanaburi. Before it was closed in 1979, the hotel-cum-shop house served as an important stopover for timber merchants and traders from the forested districts of Thong Papoom and Sangklaburi along Thai-Burma border.  During WWII, it also eye witnessed Japanese soldiers coming to stay overnight when the room rent was THB 1 per night, and the restaurant was also open downstairs. Historically, it was constructed as a row-house for rent and owned by a high-ranking civil servant.  Today, this row-house building is still in its original form, half-wood half-concrete using bamboo clumps as framed wall.

OwnerMrs. Korakot Siriluangthong

Year built:1915

โรงแรมสุมิตราคาร

อาคารที่สำคัญหลังหนึ่งในบรรดาอาคารหลักๆ บนถนนสายเก่าของเมืองในอดีตที่ควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักท่องเที่ยวก็คือโรงแรมสุมิตราคาร ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี  ก่อนที่จะเลิกกิจการเมื่อปี ๒๕๒๒ โรงแรมแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นบ้านร้านค้าเคยเป็นจุดแวะพักค้างคืนที่สำคัญของพ่อค้าไม้จากเขตอำเภอทองผาภูมิและสังขละบุรีตามแนวชายแดนไทยพม่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โรงแรมนี้เคยมีทหารญี่ปุ่นมาเช่าห้องพักค้างคืน ค่าเช่า ๑ บาทต่อคืน และข้างล่างเปิดเป็นร้านอาหาร เดิมทีเป็นห้องแถวที่เจ้าของเดิม (หลวงไกรสร) ต้องการปลูกให้เช่าก่อนตกมาถึงมือของตระกูลกังสนานนท์  ปัจจุบัน  อาคารหลังนี้ยังคงอยู่ในสภาพเดิม เป็นตึกแถวสองชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ฉาบปูนและคร่าวผนังเป็นโครงไม้รวก 

 

เจ้าของนางกรกช  ศิริเหลืองทอง 

ปีที่สร้าง๒๔๘๐

 

 ถนนปากแพรก

 

4. Sitthisang House 

One of the most characteristic buildings that would never fail to grab an attention of passers-by is Sitthisang House which is now transformed to be a chic coffee shop sitting opposite the Hotel Sumitrakharn. Named after the family name, this building obviously influenced by the Chino-Portuguese architecture was built in 1920 during the period of King Rama V.  Its most dominant features are probably the stucco, wood carving decorations of the windows, the arches on the upper floor and its charming foldable door reflecting the old ages of the house.  Before it was renovated in early 2009, the house was originally painted by using natural paints made from a combination of red earth locally available and sticky rice juice that proved to last for years. The building still belongs to Sitthisang family. 

OwnerMr. Prapreut Sitthisang

Year built:1920

 

บ้านสิทธิสังข์

อาคารหลังหนึ่งซึ่งไม่เคยพลาดที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้สัญจรไปมาบนถนนปากแพรกคือ บ้านสิทธิสังข์  ซึ่งปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟที่มีเสน่ห์เก๋ไก๋ ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับโรงแรมสุมิตราคาร  บ้านตึกหลังนี้ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อตระกูลของผู้เป็นเจ้าของสร้างขึ้นในปี ๒๔๖๓ ในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕  และเห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบซิโน-โปรตุกีส ลักษณะที่โดดเด่นที่สุดน่าจะอยู่ที่ลวดลายปูนปั้นประดับ ลายฉลุของช่องลมเหนือประตูหน้าต่าง โดยเฉพาะปูนปั้นลายก้านขดเหนือป้ายชื่อบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งประตูบ้านเฟี้ยมที่มีเสน่ห์ซึ่งสะท้อนอายุอันเก่าแก่ของบ้าน  ก่อนที่จะได้รับการบูรณะโดยเจ้าของร้านกาแฟเมื่อต้นปี ๒๕๕๒  บ้านหลังนี้ใช้สีทาบ้านซึ่งเป็นสีธรรมชาติทำมาจากดินที่นำมาจากทุ่งนาคราช นำมากรองแล้วผสมกับน้ำข้าวเหนียวซึ่งมีความคงทนหลายปี ปัจจุบัน บ้านหลังนี้ยังคงเป็นของตระกูลสิทธิสังข์

เจ้าของนายประพฤติ สิทธิสังข์

ปีที่สร้าง๒๔๖๓

 

บ้านสิทธิสังข์ ถนนปากแพรก กาญจนบุรี

 

5. Siri Osot and Boonpong & Brothers House 

If the two adjoining buildings (Siri Osot and Boonpong Houses) deserve special attention due to their link to the local history of WWII in Kanchanaburi, Boonpong Sirivejabhand, the late owner, even deserves a more notable mention. Boonpong is a highly respected businessman who inherited the house from his father - a medical doctor/civil servant of the province.  During 2nd WW, Boonpong intensively involved in the trading with Japanese soldiers and won a bid in selling sleeping logs for the Death Railway construction under the Japanese supervision.  However, his shop house also welcome prisoners of war of various nationalities. Through this contact and his English language, he gradually acted as a messenger between these POWs and their countries, using secrets codes known among POWs and him only. Thanks to their secret operation, the allied countries successfully bombed the Bridge over the River Kwai. At the end of the war, Boonpong was granted the Royal decorations from the United Kingdom and the Netherlands in return for his help given to their citizens. The three-storey Boonpong house is now 74 years, while the two-storey Siri Osot pharmacy sitting next door is 92 year old, and completely transformed to be a pet shop. 

OwnerMr. Anusin Sirivajabhand 

Year built:1917

 

บ้านสิริโอสถและบ้านบุญผ่องแอนด์บราเธอร์

หากอาคารสองหลังนี้สมควรได้รับความสนใจเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในจังหวัดกาญจนบุรี  นายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ผู้ได้รับมรดกอาคารหลังนี้จากหมอเขียนผู้เป็นพ่อ  (ขุนสิริเวชชะพันธ์) ก็สมควรได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษด้วยเช่นเดียวกัน   นายบุญผ่องผู้วายชนต์เป็นนักธุรกิจที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงและในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เขาชนะการประมูลตัดไม้หมอนรถไฟให้กับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ร้านค้าของเขาก็ได้ต้อนรับเชลยศึกหลากหลายสัญชาติจำนวนมาก  จากการพบปะกันดังกล่าวและความสามารถด้านภาษาอังกฤษของเขาทำให้บุญผ่องได้กลายเป็นตัวเชื่อมระหว่างเชลยศึกและประเทศที่พวกเขาจากมา พวกเขาใช้รหัสลับในการส่งข้อความถึงกันโดยมีบุญผ่องและเชลยศึกเท่านั้นที่รู้ความหมาย  จากการปฏิบัติการลับๆ ดังกล่าวทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถทิ้งระเบิดทำลายสะพานข้ามแม่น้ำแควได้อย่างแม่นยำ เมื่อสิ้นสุดสงคราม บุญผ่องได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศอังกฤษและเนเธอร์แลนด์เพื่อตอบแทนที่เขาได้ช่วยเหลือเชลยศึกในระหว่างสงคราม  ขณะนี้บ้านบุญผ่องซึ่งเป็นตึกสามชั้นมีอายุ ๗๔ ปี  และร้านสิริโอสถซึ่งเป็นตึกสองชั้นตั้งอยู่ถัดไปมีอายุ ๙๒ ปี ปัจจุบันสิริโอสถเปลี่ยนเป็นร้านขายอาหารสัตว์ แต่ในอดีตเป็นร้านขายยาแผนโบราณ

เจ้าของร.ต.อ. อนุศิลป์ สิริเวชชะพันธ์

ปีที่สร้าง๒๔๖๐

 
ถนนปากแพรก


6. Boonyiam Jewelry Shop (Chansiri House)

The same age and style as Sitthisang house, this 82 years old building well reflects the popular architecture fusion of Chino-Portuguese as found in other buildings of the same period. The Roman Neoclassic-styled posts supporting the upper balcony, the charming arches over the double casement windows on the upper floor are apparently dominant features of the house which is obviously one of the main characters of this old town street. Apart from the new front door, the exterior looks the same as it did in the past, but the interior has been completely changed. The house is now owned by a bicycle shop on the opposite side of the street.

OwnerUncle Ah (bicycle shop owner)

Year built:1927

 

บ้านบุญเยี่ยม เจียระไน (คุ้มจันทร์ศิริ)

บ้านตึกสองชั้นหลังนี้มีอายุพอๆ กับบ้านสิทธิสังข์ (๘๐-๙๐ ปี) และมีลักษณะการผสมผสานทางสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปตุกีสซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมในยุคสมัยดังกล่าว  เสาแบบโรมันคลาสสิกรองรับระเบียงที่ยื่นออกมาและช่องลมทึบเป็นรูปโค้งเหนือหน้าต่างบานคู่ชั้นบนที่อ่อนช้อยมีเสน่ห์เป็นจุดเด่นของบ้านหลังนี้ และเป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของถนนปากแพรกในย่านเมืองเก่า  ยกเว้นประตูหน้าบ้านที่เปลี่ยนประตูบานพับเหล็กแล้ว การตกแต่งภายนอกยังคงอยู่ในสภาพเดิมอย่างที่เคยเป็นในอดีตแต่ภายในถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบัน ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของร้านซ่อมจักรยานที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม 

เจ้าของโกอ๋า (ร้านจักรยาน)

ปีที่สร้างประมาณปี ๒๔๗๐

  

7. Thai Yong & Thai Seri Shop houses 

 

The two-storey, half-wood building obviously has an impressive parapet on the balcony of the upper floor. The parapet has a rare but nice pattern (known in Thai as Dhevbhanom) not seen anymore in modern buildings. Similarly to other buildings of the same period, neatly floral wood carving of the front doors clearly add more charms to this row-house building. It originally had a concrete roof. The year it was built is not exactly known, but it is said that it must have been built before WWII took place. It is then approximately 87 years old. At certain time, it was turned into a hospital run by a missionary. 

OwnerMrs. Yai Saeliang and Mr. Kovit Kruthanurat 

Year built:not exactly known but before WWII period 

 

ร้านไทยยงและไทยเสรี

บ้านร้านค้าครึ่งไม้ครึ่งปูนหลังนี้มีราวลูกกรงบนระเบียงชั้นบนที่สวยงามน่าประทับใจอย่างเห็นได้ชัดเจน ลวดลายลูกกรงปูนเป็นรูปเทพพนมที่หายากและไม่สามารถพบเห็นได้อีกแล้วจากตึกสมัยใหม่   นอกจากนี้ลวดลายก้านขดที่ฉลุบนกรอบประตูชั้นล่างก็เสริมเสน่ห์ให้แก่ตึกแถวหลังนี้มากขึ้นเช่นเดียวกับอาคารหลังอื่นๆ ที่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน หลังคาบ้านเดิมเป็นปูน  ปีที่ก่อสร้างยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดแต่กล่าวกันว่าสร้างก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่สองแน่นอน คาดว่าปัจจุบันอาคารหลังนี้มีอายุประมาณ ๘๗ ปี และมีช่วงหนึ่งที่เคยเป็นโรงพยาบาลโดยครูสอนศาสนาเป็นผู้เปิดให้บริการ 

เจ้าของนางใหญ่ แซ่เหลียง และนายโกวิท  ครุฑฒานุรัถ 

ปีที่สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ไม่ทราบปีแน่ชัด 

 แพลนเที่ยวอำเภอเมือง กาญจนบุรี

 

8. Chuan Panich House 

A two and half storey house, opposite Sirichumsang building, appears very solid due to its concrete structure, a beehive-like sun screen added later even reinforces its solid appearance. The cement used to build the house was imported from overseas, but craftsmanship sought locally. The total construction cost was THB9,000 (US$272) when it was finished 80 years ago. In the old days, when the River Kwae Yai has not yet been forced to change its way to where it is today, this shop house was located  by the river, selling groceries and temple stuff to passers-by who came by boat. The Chinese character is prevailing as obviously seen in its parapets and the house sign over its originally foldable front door. 

OwnerMr. Surapol Tantivanich 

Year built:1929

 

บ้านชวนพานิช

ตึกแถวสองชั้นครึ่งหลังนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับบ้านศิริชุมแสงและดูแข็งแรงทนทานจากโครงสร้างที่หล่อปูนทั้งหลัง กันสาดกันแดดที่คล้ายรังผึ้งซึ่งเพิ่มเติมทีหลังยิ่งตอกย้ำลักษณะเด่นนี้  ปูนที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์นำเข้าจากต่างประเทศแต่จ้างช่างพื้นบ้านเป็นผู้ก่อสร้าง ค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ ๙๐๐๐ บาทเมื่อสมัยแปดสิบปีที่แล้ว  ในอดีต เมื่อตลิ่งริมแควใหญ่ยังไม่ได้ถูกถมและแม่น้ำยังไม่เปลี่ยนทิศทางการไหล บ้านร้านค้าแห่งนี้เคยตั้งอยู่ริมน้ำ ขายเครื่องบวชและของชำให้แก่ผู้ที่สัญจรไปมาทางเรือ ลักษณะเฉพาะตัวแบบจีนยังมองเห็นได้ชัดเจนจากลวดลายลูกกรงระเบียงและป้ายชื่อร้านหน้าประตูทางเข้าที่เป็นของแท้ดั้งเดิม 

เจ้าของนายสุรพล ตันติวานิช

ปีที่สร้าง๒๔๗๒

ร้านชวนพานิช 

9. Sirichumsang Shop house 

A large row-house building appears ordinary but attractive due to its minimum decorations apart from the stucco decoration on top of the posts over the upper balcony with old-aged looking parapets. Coloured glass decoration on the window breasts adds more colours to the building (newly painted).  A heritage of Sirichumsang family, the building is now 77 years old. It has been famous as a gun shop and it still is today.

OwnerMr. Visan Sirichumsang

Year built:1932

 

บ้านศิริชุมแสง

ตึกแถวสองชั้นขนาดใหญ่ ๓ คูหาดูธรรมดาแต่มีเสน่ห์เพราะมีการตกแต่งเพียงเล็กน้อยนอกเหนือจากลวดลายบัวรับที่คอหัวเสาซึ่งทำให้เกิดเป็นลักษณะเหมือนซุ้มโค้งเหนือระเบียงชั้นบนที่โดดเด่นด้วยลายลูกกรงซึ่งสะท้อนอายุอันเก่าแก่  การตกแต่งกระจกสีบนกรอบหน้าต่างบานคู่ช่วยเติมสีสันให้อาคารหลังนี้ (ผ่านการซ่อมแซมและทาสีใหม่)  ปัจจุบันเป็นมรดกของตระกูลศิริชุมแสงและมีอายุประมาณ ๗๗ ปี มีชื่อเสียงมานานในฐานะร้านขายปืนและปัจจุบันก็ยังคงดำเนินธุรกิจเดิมอยู่

เจ้าของนายวิศาล ศิริชุมแสง 

ปีที่สร้างประมาณปี ๒๔๗๕

 

10. Hua Hong Shop

 

A 90 year old, two-storey house was built by the same owner of Kanchanaburi Hotel, on the other side of the street, with little help from local builders.  Similarly to others, the half-wood half-concrete building presents the dominant architectural characters and influences of the period it was built (King Rama V, 1868-1910).   Its balanced structure, elegant parapets, simple but beautiful foldable door, neatly made eaves decorated with stucco work supported by pillars, altogether represent the legacy of Sino-Portuguese architecture of the 19th century. The main structure of the house is still in its original form, only the foldable teak front door and the ground floor that have been renovated. The shop-cum-house currently belongs to the third generation of Naivinit family. 

OwnerMr. Varong Naivinit 

Year built:1919

 ร้านฮั้วฮง

อาคารอายุ 90 ปีหลังนี้สร้างโดยชาวจีนซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับโรงแรมกาญจนบุรี บนอีกฝั่งหนึ่งของถนนปากแพรก  โดยมีช่างพื้นเมืองช่วยเหลือในการก่อสร้างเพียงเล็กน้อย    บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้หลังนี้คล้ายคลึงกับอาคารหลังอื่นๆ ที่ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรมในยุคสมัยที่มันถูกสร้างขึ้น (รัชกาลที่ ๕, ๒๔๑๑-๒๔๕๓)   ผังโครงสร้างที่สมดุลของบ้าน  ราวลูกกรงระเบียงที่เรียบหรู  ประตูบานเฟี้ยมที่เรียบง่ายแต่งดงาม เชิงชายหล่อเป็นปูนประดับและเสาที่รองรับอย่างสมดุล    ทั้งหมดทั้งมวลต่างเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมจีน-โปตุกีส จากยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางที่ยังคงหลงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน  โครงสร้างหลักของอาคารหลังนี้ยังคงอยู่ในสภาพเดิมทุกประการ มีเพียงประตูบานพับไม้สักเดิมและพื้นชั้นล่างที่ได้รับการปรับปรุง ปัจจุบันบ้านซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นร้านค้าตกทอดเป็นมรดกของสมาชิกรุ่นที่สามของครอบครัวนัยวินิจ 

 

เจ้าของนายสมจิตต์ เสตะพันธุ์

ปีที่สร้าง๒๔๖๒

  

11. Siwapa House 

The 90 year-old house is at the same age and in a similar style as its neighbouring buildings on the same strip. However, a key characteristic feature has been removed: its traditional foldable front door was replaced by a modern one. The split-tiled roof is still preserved in its original form.   Though it appears very simple, but its construction method deserves a notable mention. The grandfather of the present owner built the house of his own by using a traditional technique and natural materials locally available in Kanchanaburi. The plastered brick walls were made by using a mixed component of sand and lime, thoroughly blended until sticky enough to be used as plaster cement.  It was open as a bicycle shop, also selling groceries in the old days.  

OwnerMr. Thera Thiamthae

Year built:estimated 1917

 

บ้านศิวภา

บ้าน 90 ปีหลังนี้มีอายุพอๆ กับอาคารที่ตั้งอยู่ติดกันและมีรูปแบบการทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกัน  อย่างไรก็ตาม ลักษณะเฉพาะตัวที่สำคัญประการหนึ่งได้หายไป นั่นก็คือ ประตูบานเฟี้ยมถูกแทนที่ด้วยประตูบานพับเหล็ก  แต่หลังคามุงกระเบื้องยังคงรักษาอยู่ในสภาพเดิม  ถึงแม้ว่าบ้านหลังนี้จะดูเรียบง่าย แต่วิธีการก่อสร้างของมันสมควรได้รับการกล่าวถึง ปู่ของเจ้าของบ้านคนปัจจุบันเป็นผู้สร้างบ้านหลังนี้ด้วยมือเขาเองโดยใช้วิธีการแบบโบราณและวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นกาญจนบุรี  ผนังบ้านก่อด้วยอิฐ ปูนที่ใช้แทนปูนซีเมนต์ทำมาจากดินทรายผสมกับปูนขาว และตำให้เหนียวข้นเพื่อใช้แทนปูน ในอดีต เคยเปิดเป็นร้านขายของชำและซ่อมจักรยาน 

 

เจ้าของนายธีระ เทียมแท้

ปีที่สร้างประมาณ ๒๔๖๐

 

 บ้านศิวภา

 

 

12. Srichamnong Panich 

The Srichamnong Panich shop, at its 90, partly forms a strip row-house building that characterizes the Chinese trading community – a prevailing and dominant feature of Pak Praek street. It was built by a man of Chinese origin who ran a shop selling forest products from Kanchanaburi wilderness areas. 

OwnerMrs. Buasri Jiajamroon

Year built:estimated 1917

 

ร้านศรีจำนงค์พานิช

ร้านศรีจำนงค์พานิชในวันเวลาที่อายุครบ 90 ปี เป็นส่วนหนึ่งของตึกแถวที่เรียงยาวขนานไปกับถนนซึ่งสะท้อนลักษณะเฉพาะตัวของย่านการค้าของชุมชนชาวจีนที่ยังคงปรากฎให้เห็นและเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของถนนปากแพรก  บ้านหลังนี้สร้างโดยเจ้าของที่มาจากเมืองจีนและเปิดเป็นร้านขายของป่าที่เก็บหาได้จากป่าดงรกชัฎของกาญจนบุรี 

เจ้าของนางบัวศรี เจียจำรูญ

ปีที่สร้าง๒๔๖๐

 

 

13. Kanchanaburi Hotel 

A 72 year-old, three storey building is another hotel which was built before WWII period. The architecture style of the hotel with 14 rooms was primarily influenced by the Chinese buildings seen in China – an origin of the owner. The most outstanding feature may be the coloured glass decoration of the windows, particularly those sitting between the balconies on the top floor. The room rate was THB2-4 per night before increasing to THB60-70 (US$10) twenty years ago. Most of its customers were timber traders from the forested districts of Thong Papoom and Sangklaburi, and civil servants who came for meetings as well as members of minority groups living along Thai-Burma border. 

OwnerMiss Nongnuch Manoj

Year built:1937

 

โรงแรมกาญจนบุรี 

อาคารตึกหลังนี้เป็นโรงแรมอีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒  รูปแบบของโรงแรมที่มี ๑๔ ห้องนี้ได้เลียนแบบการสร้างจากอาคารที่เห็นในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเจ้าของโรงแรม  ลักษณะที่โดดเด่นสะดุดตาที่สุดของอาคารนี้น่าจะเป็นการประดับกระจกสีบนกรอบหน้าต่าง โดยเฉพาะหน้าต่างกระจกสีบนชั้นสามของอาคารที่ขนาบข้างด้วยระเบียงสองฝั่ง  ค่าเช่าห้องในสมัยนั้นคิดคืนละ ๒-๔ บาท และเมื่อประมาณยี่สิบปีที่แล้วเพิ่มเป็นคืนละ ๖๐-๗๐ บาท ลูกค้าโดยส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าไม้จากอำเภอทองผาภูมิและสังขละบุรี ข้าราชการที่มาประชุม รวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามแนวชายแดนไทยพม่า 

 

เจ้าของนางสาวนงนุช มาโนช

ปีที่สร้าง๒๔๘๐

 
ถนนปากแพรก


14.  Taem Thong Residence 

The first concrete building of its kind in Kanchanaburi needs special attention from the street goers. At a glance, it is eye catching thanks to its exterior that looks like a Chinese shrine rather than a house. In fact there was a shrine in front of the house before it was moved to another place nearby. A closer look at its front gate will introduce visitors to a mural painting originally painted by Chinese artisans. Built towards the end of King Rama IV period, the approximately 142 year-old Taem Thong house was open as a shop and traditional pharmacy known as Yi Gong Si. It was located on the bank of the River Kwae Yai before the waterway changed to where it is today. The house, well protected by the Chinese styled wall, is half-wood half-concrete, with the stucco floral decoration on its gable.  When there was a fire accident, it was the only one house that survived the fire. Until today, the house has been lived by five generations of Taem Thong family. 

OwnerMrs. Patcharee Taemthong

Year built:1867

 

บ้านแต้มทอง

บ้านแต้มทองซึ่งเป็นอาคารตึกหลังแรกของกาญจนบุรีสมควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้มาเที่ยวถนนปากแพรก บ้านหลังนี้สะดุดสายตาเนื่องจากลักษณะภายนอกที่ดูเหมือนศาลเจ้า อย่างไรก็ตาม ในอดีตเคยมีศาลเจ้าตั้งอยู่หน้าบ้านก่อนที่จะย้ายไปรวมกับศาลเจ้าพ่อกวนจง  ด้านหน้าบ้านมีกำแพงล้อม ทางเข้าทำเป็นซุ้มประตูแบบเก๋งจีนและที่ผนังซุ้มประตูมีภาพเขียนแบบลายจีน  บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้นหลังนี้สร้างขึ้นตอนปลายรัชกาลที่ ๔ คาบเกี่ยวต้นรัชกาลที่ ๕  มีอายุประมาณ ๑๔๒ ปี หน้าจั่วของบ้านเป็นปูนปั้นลวดลายจีน  ในอดีตเคยเปิดเป็นร้านขายของและขายยาจีนเรียกว่า ยี่กงซี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ ก่อนที่แม่น้ำจะเปลี่ยนทิศทางในเวลาต่อมา  เมื่อครั้งเกิดไฟไหม้ เป็นบ้านหลังเดียวที่รอดพ้นจากไฟ  จนถึงปัจจุบัน บ้านแต้มทองได้เป็นที่อาศัยพักพิงของคนในตระกูลถึงห้ารุ่นด้วยกัน 

เจ้าของนางพัชรี แต้มทอง

ปีที่สร้าง๒๔๑๐

 

15. Boonchai Panich Shop House 

Similarly to Hua Hong house sitting on the same strip, the concrete building of Boonchai house presents a well-balanced fusion of the building design mainly influenced by Chinese and European architectures.  Remarkably, its beautiful foldable front door and the upper balcony as well as its wood work decoration make the house especially attractive for passers-by.  

Owner  Mrs. Rattana Boonchai  

Year built: 

 

บ้านบุญไชย 

บ้านบุญชัยคล้ายคลึงกับบ้านฮั้วฮงที่เป็นส่วนหนึ่งของตึกแถวเดียวกันซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานที่ลงตัวของรูปแบบการสร้างที่ได้รับอิทธิพลหลักๆ จากสถาปัตยกรรมจีนและยุโรป  สิ่งที่น่าสังเกตคือประตูบานเฟี้ยมที่สวยงามเรียบง่าย ระเบียงชั้นบนที่ยื่นออกมามีเสาซึ่งตกแต่งด้วยบัวหัวเสารองรับและงานไม้ฉลุซึ่งทำให้บ้านหลังนี้ดูน่าดึงดูดใจเป็นพิเศษสำหรับผู้ผ่านไปมา 

เจ้าของนางรัตนา บุญไชย

ปีที่สร้าง

 

16. Rattanakusum House

Distancing itself from the strip row-house buildings in the interior of the community, a 100 year-old Rattanakusum wooden house is considerably outstanding thanks to its impressively carved wood decorations over the front door and the balcony of the upper floor. The original wood work such as foldable doors and the gable end has well been preserved, and some parts of the house i.e. floor, roof and wall, have been restored and modified. Similarly to other key buildings on the street, this gable roofed house has a historical link with WWII in Kanchanaburi. During that period, it was rent to a high-ranking Japanese army officer to stay with his soldiers throughout the war period. When Japan was defeated, the tenant gave the Japanese porcelain and Samurai sword to the house owner (Mr. Thong Rattanakusum - lawyer) as a memorable gift. But the most memorable event of Rattanakusum family is that the present Supreme Patriarch presided over the marriage ceremony of the late owner’s daughter who has inherited the house from her beloved father. This special visit is regarded as the most auspicious event experienced by the family.            

OwnerMrs. Wanida Plathip 

Year built:1909

 

บ้านรัตนกุสุมภ์

บ้านรัตนกุสุมภ์ตั้งอยู่ห่างจากบ้านเรือนร้านค้าที่เป็นตึกแถวอยู่ลึกเข้าไปภายในชุมชนบนถนนปากแพรก  บ้านไม้อายุ ๑๐๐ ปี หลังนี้ค่อนข้างโดดเด่นในตัวของมันเองเนื่องจากลวดลายฉลุเหนือประตูบานเฟี้ยมและเหนือระเบียงชั้นบนที่ประณีตสวยงามน่าประทับใจ  งานไม้ต่างๆ เช่น ประตูและหน้าจั่ว ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่ในรูปแบบเดิม บางส่วนของบ้านได้รับการซ่อมแซมและดัดแปลงใหม่บ้าง เช่น พื้น หลังคาและผนังชั้นล่างซึ่งก่ออิฐโชว์   เช่นเดียวกับอาคารสำคัญอื่นๆ บนถนนปากแพรก  บ้านทรงมะนิลาหลังนี้มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วยเช่นกัน  โดยเจ้าของบ้าน (นายทอง รัตนกุสุมภ์-ทนายความ)  ได้ให้นายทหารญี่ปุ่นชื่อ นายพันนาการิ มาระ กับลูกน้องอีก ๕ นาย เช่าอาศัยอยู่ หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม นายพันนาการิได้มอบชุดเครื่องลายครามและดาบซามูไรไว้เป็นที่ระลึก   แต่เหตุการณ์ที่น่าจดจำมากที่สุดสำหรับครอบครัวรัตนกุสุมภ์คือการที่สมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกได้เสด็จมาประทานน้ำพระพุทธมนต์และพระพุทธรูป ภปร. ๕ นิ้ว เนื่องในโอกาสวันสมรสของลูกสาวของเจ้าของบ้าน ซึ่งได้รับมรดกบ้านหลังนี้จากพ่อผู้เป็นที่รัก เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นสิริมงคลสูงสุดของครอบครัว 

เจ้าของนางวนิดา ปลาทิพย์

ปีที่สร้าง๒๔๕๒

 บ้านรัตนกุสุม

 

 17. Suthi House 

The hip-roofed building is probably most characterised by its outstanding covered verandah with the stucco floral decoration on the gable with the family name ‘Thanasobhon’ written on it.  Built during the reign of King Rama VI, this two storey concrete house also has impressive carved wood decorations as seen over the balconies both on the ground floor and upper floor.  The stucco decoration on the window lintels is also worth noted. At its 82, the cement tiled roof is still in its original shape, and the house is protected by the wall with a simple but nice entrance in the front. 

OwnerMr. Jamlong Thanasobhon

Year built:1927

 

ลักษณะเฉพาะที่เด่นที่สุดของบ้านทรงปั้นหยาก่ออิฐถือปูนหลังนี้อาจจะเป็นมุขชั้นบนที่มีหน้าจั่วซึ่งเป็นปูนปั้นลายเครือเถาเขียนว่า “ธนโสภณ”   บ้านตึกสองชั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ และมีงานไม้ฉลุที่สวยงามประทับใจเหนือระเบียงทั้งชั้นล่างและชั้นบน   ลายปูนปั้นแบบโค้งตั้งเหนือกรอบหน้าต่างด้านบนเป็นช่องแสงทึบ   หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์และยังคงอยู่ในสภาพเดิม บ้านที่มีอายุครบ ๘๒ ปีในปีนี้ล้อมด้วยกำแพงที่มีซุ้มประตูทางเข้าดูเรียบง่ายแต่สวยงาม      เจ้าของบ้านเดิมชื่อนายโหงวฮก ธนโสภณ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับภรรยาของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาอดีตนายกรัฐมนตรี

 

เจ้าของนายจำลอง ธนะโสภณ

ปีที่สร้าง๒๔๗๐

 

 

18. Nivas Sansuk House 

The 72 year-old, two storey wooden house has similar characters as its adjoining neighbour – Suthi House. It has a characteristic gable roof, balcony, with notable large front doors and strip windows around the house. It has been restored, modified and newly painted but not losing its original character.  Notably, it was a newlywed house of the former prime minister (Praya Phahol Polphayuhasena) during the reign of the King Rama VII. Today it belongs to Manoj family.

OwnerMr. Sirichai Manoj

Year built:1937


บ้านนิวาสแสนสุข 

บ้านไม้สองชั้นอายุ ๗๒ ปี หลังนี้มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายคลึงกันกับบ้านสุธี  คือมีหลังคาทรงปั้นหยา มีมุขยื่นออกมาทางซ้าย และที่น่าสังเกตคือมีประตูไม้บานใหญ่และบานหน้าต่างเรียงติดต่อกันเป็นแนวยาว  เจ้าของคนปัจจุบันได้บูรณะ ดัดแปลงและทาสีใหม่หมดทั้งหลังแต่ไม่ทำให้เสียสภาพเดิม  สิ่งที่ควรจะได้รับการบันทึกไว้ก็คือบ้านหลังนี้เคยเป็นเรือนหอของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาอดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยรัชกาลที่ ๗    ปัจจุบันตกเป็นของตระกูลมาโนช

เจ้าของนายศิริชัย มาโนช

ปีที่สร้าง๒๔๘๐

 

 ถนนปากแพรก บ้านนิวาสแสนสุข

 

  

19. Amnuay Choke House 

Though unfortunately neglected in a bad condition, the two-storey concrete house is still able to reflect its glory in the past through the legacy of its architecture from the reign of King Rama V. Similarly to Nivas Sansuk and Suthi houses that share the same age next door, it has a wall with a simple gate in the front. But perhaps what makes this house most attractive may be the gentle arches over the balconies both on the ground floor and the upper floor. The flat roof and the upper balcony have simple but charming parapets.  

OwnerMr. Kafong 

Year built:estimated 1917 

 

บ้านอำนวยโชค

ถึงแม้ว่าจะถูกปล่อยทิ้งร้างจนอยู่ในสภาพที่เป็นซากปรักหักพังในปัจจุบัน  อาคารตึกสองชั้นก่ออิฐถือปูนหลังนี้ก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงอดีตอันรุ่งเรืองของมันผ่านสถาปัตยกรรมที่หลงเหลือตกทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ ๕    คล้ายคลึงกับบ้านที่ตั้งอยู่ถัดไปสองหลังคือบ้านนิวาศแสนสุขและบ้านสุธี  ซึ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน บ้านอำนวยโชคมีกำแพงล้อมรอบและมีซุ้มประตูทางเข้าที่ดูเรียบง่ายอยู่ด้านหน้า  แต่สิ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้ดูโดดเด่นสวยงามที่สุดน่าจะเป็นโค้งระหว่างเสาเหนือระเบียงทั้งชั้นบนและชั้นล่าง  หลังคาแบนราบและระเบียงมีราวลูกกรงที่ดูเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์

 

เจ้าของนายสมจิตต์ เสตะพันธุ์

ปีที่สร้างประมาณ ๒๔๖๐

 

 

20. Kulsuwan House 

 

Influenced by the building design as seen in Singapore, Kulsuwan house was built in 1878 towards the ending period of King Rama V, with a hipped-roof style which was once popular in mid Bangkok era. The gable has a window shutter for air ventilation essential for the tropical climate of Thailand. The pent roof at the back of the upper floor is in a good shape with original split-tiles as commonly used in the traditional Thai house construction in the old days.  The balcony is decorated with  coloured glasses as well as the doors. 
 

บ้านกุลสุวรรณ

บ้านกุลสุวรรณสร้างขึ้นประมาณปี ๒๔๒๑ ตอนปลายรัชกาลที่ ๕ โดยได้รับอิทธิพลจากแบบบ้านที่พบเห็นในสิงคโปร์  มีลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมในยุคกลางของรัตนโกสินทร์  หน้าจั่วเป็นบานเกล็ดระบายอากาศซึ่งสำคัญยิ่งสำหรับอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย  มุขหลังมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ข้าวหลามตัดที่นิยมใช้ในการสร้างบ้านเรือนไทยในอดีต  บริเวณระเบียงและเหนือประตูโดดเด่นสะดุดตาด้วยการประดับกระจกสี 

 

เจ้าของนายสมจิตต์ เสตะพันธุ์

ปีที่สร้าง๒๔๕๘

 

 

21. Khotchawat House 

Though the original building was completely torn down due to its  degradation over time and replaced by a modern one about fifty years ago, the Kotchawat house deserves special attention from passsers-by as this is where the present Supreme Patriarch spent his childhood. Photos featuring the supreme patriarch with the family are displayed inside the house.  

Owner  Mr. Chamnian Kotchawat

Year built:    estimated 1921

 

บ้านคชวัตร

ถึงแม้ว่าบ้านหลังเดิมถูกรื้อทิ้งเนื่องจากผุพังไปตามกาลเวลาและบ้านหลังปัจจุบันถูกสร้างขึ้นแทนเมื่อประมาณห้าสิบปีที่แล้ว แต่บ้านคชวัตรสมควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้สัญจรไปมา เนื่องจากเคยเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปรินายกองค์ปัจจุบัน  ภายในบ้านมีเรื่องราวและรูปภาพต่างๆ เกี่ยวกับสมเด็จพระญาณสังวรฯ กับครอบครัว 

เจ้าของนายจำเนียร คชวัตร (น้องชายสมเด็จพระณาณสังวรฯ)

ปีที่สร้าง               ประมาณ ๒๔๖๔

 

 

22. Kanchanaburi City Gate

Kanchanaburi City Gate is located at Pakprak sub-district. It is an ancient style gate built since 1831 with bricks and cement in pre-Rattanakosin period during the reign of King Rama III. In the meantime,Kanchanaburi city was being moved from the old location at Lad Yah to Pakprak due to better strategic battle position and more convenient trading with other cities.
Kanchanaburi brick city wall has sema built on top of it as boundary marker symbol. The wall stretches out in rectangular, 210 meter wide and 480 meter long. There are fortresses on every corner and one in the middle of front wall and another in the middle of back wall. There are 8 entrances including 6 city gates and 2 topless doors. Nowadays the wall and gates are almost completely ruined except the front gate facing KhwaeYai River and the nearby wall. A restoration was done once in 2006. Behind the city gate stands a King Rama III monument.

ประตูเมืองกาญจน์

ประตูเมืองกาญจนบุรีเป็นประตูเมืองก่ออิฐถือปูน ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2374 เมื่อครั้งย้ายเมืองกาญจนบุรีเก่าจากตำบลลาดหญ้ามาตั้งที่ตำบลปากแพรก เดิมมี 8 ประตู ประกอบด้วย ประตูเมือง 6 ประตูและประตูช่องกุด 2 ประตู ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะประตูเมืองด้านหน้าและกำแพงเมืองบางส่วนที่อยู่ติดกันโดยได้มีการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ. 2549

 ประตูเมืองกาญจน์
บริการรถตู้
ทีมงานสต๊าฟ ว้าว ทูเกเตอร์ ทราเวล

Visitors: 110,341