อุทยานประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพ

อุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ  

 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งครั้งหนึ่งสถานที่นี้เคยเป็นสมรภูมิการรบระหว่างกองทัพของไทยในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และกองทัพพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าในพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2328 โดยกองทัพไทยซึ่งมีเพียง 4 กองทัพได้ต้านทานการบุกและตัดการลำเลียงเสบียงอาหารและกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายทัพพม่า โดยใช้เวลาทั้งสื้น 10 เดือน กว่าสงครามจะยุติลง โดยทัพไทยเป็นฝ่ายชนะและรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ สงครามครั้งนี้มีชื่อเรียกว่า “สงคราม 9 ทัพ”  
 อุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ  เป็นความริเริ่มของกองทัพบก โดยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 1 ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป จัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเฉลิมพระเกียรติ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542ทั้งนี้เนื่องจากในขณะที่ท่านปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของกองทัพบก ได้นำคณะทำงานฯ สำรวจพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดกาญจนบุรี และพบว่าพื้นที่ที่เคยเป็นสมรภูมิสงคราม 9 ทัพ ยังคงสภาพเดิม  เหมาะสำหรับเป็นสถานที่ศึกษาหลักการใช้ภูมิประเทศ และเส้นทางเดินทัพ ตลอดจนการดำเนินกลยุทธ์ ซึ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาท ผู้ทรงเป็นแม่ทัพ สามารถรบชนะข้าศึกซึ่งมีกำลังมากกว่าได้อย่างราบคาบสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ   เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2543
 อุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ   มีอาคารจัดนิทรรศการบอกเล่าประวัติของสงครามเก้าทัพ ตัวอาคารเมื่อดูจากภายนอกจะมีลักษณะเหมือนหมวกนักรบโบราณ ซึ่งออกแบบโดยกรมศิลปากร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 27 ล้านบาทภายในอาคารมีรูปปั้นของ “ปู่มั่น” และ “ปู่คง” ซึ่งเป็นทหารและชาวบ้านอาสามาสู้รบกับพม่าเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน มีตู้จำลองขนาดย่อ และโต๊ะทรายแสดงภูมิประเทศจำลองเส้นทางการเดินทัพของข้าศึก และการตั้งรับของกองทัพไทยพร้อมคำอธิบายอยู่บริเวณโดยรอบอาคาร
ตรงกลางอาคารเป็นแผนที่นูนต่ำ บอกตำบลต่างๆของการรบ การจัดทัพของไทยและพม่า มีทีวีซึ่งจัดฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับสงครามเก้าทัพ ป้ายอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ  ถือเป็นอนุสรณ์ที่มีความหมาย โดยมีเสาธงชาติไทย 4 เสา ซึ่งหมายถึงกองทัพไทยทั้ง 4 กองทัพ ตั้งอยู่เหนือตอไม้ 9 ตอ ซึ่งหมายถึงทัพพม่าทั้ง 9 ทัพ นั่นหมายถึงว่าทัพไทยมีชัยชนะเหนือกองทัพพม่า 
ตั้งอยู่บริเวณ
ทุ่งลาดหญ้า ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๓ จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๑๙๙ ประมาณกิโลเมตรที่ ๒๔ จะมีป้ายบอกทางสู่อุทยานฯ เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 600 เมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายกิจการพลเรือน กองพลทหารราบที่ ๙ โทร ๕๘๙๒๓๓-๕ ต่อ ๑๑๒๒

แพลนเที่ยวอำเภอเมือง กาญจนบุรี
แพดเดิ้ลบอร์ดกาญจนบุรี

Visitors: 110,548