พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด

พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด 
    ตั้งอยู่ภายในกองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา บริเวณกิโลเมตรที่ 64 - 65 บนทางหลวงหมายเลข 323 (กาญจนบุรี-ไทรโยค-ทองผาภูมิ) ช่องเขาขาดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ เป็นสถานที่จัดแสดงมินิเธียเตอร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงก่อสร้างสะพาน ดูแล้วทำให้รู้สึกสลดใจเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากนั้นสถานที่แห่งนี้ได้รวบรวมข้อมูลภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ระหว่างการสร้างทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น
    พิพิธภัณฑ์ส่วนที่จัดแสดงภายในอาคารหลังใหญ่ ภายในติดแอร์ทั้งชั้น เป็นนิทรรศการแสดงเรื่องราว ทั้งภาพถ่าย สไลด์ วีดีโอ ที่ถ่ายทอดถึงความโหดร้าย ป่าเถื่อนของสงคราม โดยบรรดาเชลยศึกถูกบังคับให้สร้างเส้นทางรถไฟผ่านเข้าไปยังป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยอันตรายจากโรคไข้ป่า รวมทั้งความยากลำบาก และความอดอยากในภาวะสงคราม ทำให้เชลยนับหมื่นคนต้องล้มตายลง เส้นทางรถไฟสายนี้จึงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเส้นทางที่ต้องใช้ หนึ่งไม้หมอนต่อหนึ่งชีวิต 'A life for every sleeper' นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ ยังมีการจัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มของเชลยศึก และอุปกรณ์ในการสร้างทาง เพื่อให้เห็นว่าในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีมากไปกว่าการใช้แค่ค้อน พลั่ว สิ่ว สว่าน จอบ ค้อน และบุ้งกี๋ ในการสร้างทางรถไฟ
    บางส่วนของนิทรรศการมีการเขียนบรรยายถึงการลงโทษเชลย มีห้องจัดแสดงหุ่นจำลองสภาพความเป็นอยู่ของเชลย เป็นหุ่นจำลองเชลยศึกขณะที่แบกไม้หมอนในสภาพที่ผอมโซ ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีเสื้อผ้าใส่ มีแค่ผ้าเตี่ยวพันเป็นกางเกงในเท่านั้น ตัวอย่างอาหารของเชลยก็มีแค่ข้าวกองเล็กๆ กับผักดองและปลาแห้ง จดหมายที่เชลยสามารถส่งไปยังญาติ ก็เป็นเพียงข้อความพิมพ์สำเร็จที่ให้เชลยกรอกเพียงแค่ว่ายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
   ส่วนที่สองของพิพิธภัณฑ์ จะอยู่ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ เป็นเส้นทางเดินลงไปยังบริเวณช่องเขาขาด ที่เป็นพื้นที่จริงที่นักโทษสงครามได้ร่วมกันสร้างเส้นทางแห่งนี้ขึ้นด้วยความยากลำบาก โดยเส้นทางการไปบริเวณช่องเขาขาดนี้มี 2 เส้นทาง คือด้านล่าง เป็นเส้นทางที่เดินเข้าไปในช่องเขาบริเวณแนววางรางรถไฟ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางที่ต้องเดินขึ้นบันไดขึ้นไปบนเขาเพื่อชมช่องเขาจากด้านบนลงมา ทั้งสองเส้นทางใช้ระยะเวลาในการเดินไปต่างกัน คือเดินในช่องเขาใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง ส่วนด้านบน เหนื่อยกว่าและใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง


ค่ายเชลยบริเวณช่องเขาขาด
 
  ในตอนต้นปีถึงกลางปี พ.ศ. 2486 เชลยสงครามฝ่ายพันธมิตรและโรมุฉะ ชาวเอเชียหลายพันคนถูกฝ่ายญี่ปุ่นส่งตัวมาเพื่อทำงานก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าในแถบคอนนิว-หินตก ในการที่จะรองรับเชลยเหล่านี้ เครือข่ายค่ายเชลยที่สร้างขึ้นอย่างหยาบ ๆ ได้ถูกตั้งขึ้นในจุดต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำแควน้อย และเส้นทางสัญจรที่มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปยังประเทศพม่า (ปัจจุบันคือ เมียนมาร์)  โดยส่วนใหญ่ ค่ายเหล่านี้ต้องเริ่มสร้างจากศูนย์ เชลยสงครามที่มาถึงด้วยความเหนื่อยยากและหิวโหยจากการเดินทางอันยาวนานโดยรถไฟ รถบรรทุก หรือการเดินเท้า ต้องเริ่มลงมือถางพง ตั้งเต็นท์ ขุดหลุมส้วม สร้างโรงครัว และสร้างกระท่อมในทันที บางครั้งไม่เพียงแต่สร้างให้ตนเอง พวกเขาต้องสร้างให้ฝ่ายญี่ปุ่นด้วย ปกติแล้วพวกเขามีเครื่องมือที่ใช้ก่อสร้างและวัสดุน้อยมาก นอกเหนือจากที่สามารถหาได้จากบริเวณใกล้เคียง กระท่อมถูกสร้างจากไม้ไผ่และใบจาก (ใบจากต้นปาล์มใช้สำหรับมุงหลังคา) โดยทั่วไป กระท่อมจะประกอบไปด้วยแคร่ที่นอนไม้ไผ่ยกสูงขนาบทางเดินที่อยู่ตรงกลาง หรือไม่ก็ตั้งไว้รวมกันที่กลางกระท่อม ขนาดพื้นที่สำหรับนอนของเชลยแต่ละคน มีแค่ประมาณ 70 เซนติเมตร
   ภาระหน้าที่ในการบำรุงซ่อมแซมค่ายก็ทำได้ยากลำบาก เพราะฝ่ายญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะจัดสรรเชลยให้มารับหน้าที่ดูแลค่าย ภายใต้แรงกดดันของวิศวกรฝ่ายญี่ปุ่นที่ควบคุมงานก่อสร้างทางรถไฟ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นท้องถิ่นจึงสั่งให้ระดมเชลยสงครามในจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ไปทำงานก่อสร้างทางรถไฟ บริเวณที่ตั้งค่ายเชลย ถูกเลือกจากตำแหน่งที่ตั้งที่ใกลักับที่ราบและแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นลำธาร หรือแม่น้ำแควน้อย อย่างไรก็ดี แหล่งน้ำมักจะถูกปนเปื้อนโดยของเสียจากร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อค่ายเชลยแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ปลายน้ำ โดยมีบริเวณที่ชำระล้างหรือขับถ่ายของอีกค่ายหนึ่งตั้งอยู่ต้นน้ำ
   ภายในบริเวณคอนนิวและหินตกในกลางปี พ.ศ. 2486 มีค่ายเชลยใหญ่อย่างน้อยห้าค่ายที่เชลยชาวออสเตรเลียพักอาศัยรวมกับค่ายเชลยชาติอื่น ๆ เชลยสงครามที่มีความรู้เรื่องลักษณะภูมิประเทศในท้องถิ่นมีน้อยมาก และมักเรียกค่ายเหล่านี้ด้วยชื่อที่แตกต่างกันไป – จึงทำให้การระบุชื่อให้ถูกต้องแม่นยำในปัจจุบันนั้น ทำได้ยาก
    แม่น้ำคอนนิว – เป็นที่รู้จักกันในชื่อ คอนนิวล่าง หรือคอนนิว 3 – อยู่ในบริเวณแม่น้ำแควน้อยใต้สันเขาที่เป็นบริเวณขุดเจาะช่องเขาขาด(การตัดภูเขาที่คอนนิว) ค่ายที่อยู่ขึ้นไปทางต้นน้ำ เป็นค่ายเชลยแม่น้ำหินตกที่ตั้งอยู่บนชะง่อนผาเหนือส่วนโค้งขนาดใหญ่ของแม่น้ำ

    บนเส้นทางสัญจรเหนือช่องเขาขาด (ปัจจุบัน ทางหลวงหมายเลข 323) เป็นค่ายขนาดใหญ่ของเชลยสงครามและโรมุฉะชาวทมิฬ ซึ่งก็ถูกเรียกว่า คอนนิว 3 เหมือนกัน ในบริเวณใกล้เคียง ประมาณไม่กี่ร้อยเมตรไปตามเส้นทางสัญจร เป็นที่ตั้งของมาเลย์ แฮมเล็ต (บางครั้งถูกเรียกว่า คอนนิว 2) และห่างออกไปประมาณไม่กี่กิโลเมตรคือค่ายเชลยเขาหินตก หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อถนนหินตก

ช่องเขาขาด เชลยสงครามแบกไม้หมอนรถไฟในพม่า ประมาณสี่สิบกิโลเมตรทางตอนใต้ของเมืองตานพยูซะยะ ราวปี พ.ศ. 2486

   ในทิศทางตรงกันข้ามจากช่องเขาขาด มุ่งหน้าไปยังถ้ำผีและกาญจนบุรี ก็ยังคงมีค่ายเชลยถนนมากมาย และอาจถูกเรียกชื่อว่า คอนนิว 1 หรือ คอนนิว 2 เช่นกัน
ค่ายเชลยคอนนิวและหินตกตั้งอยู่ใกล้กันจึงทำให้สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ในบางครั้ง ตัวอย่างเช่น เชลยที่คอนนิว 3 มาเลย์ แฮมเล็ต และภูเขาหินตก มักเดินทางผ่านเนินลาดชันและลื่น ลงมายังแม่น้ำคอนนิว และต่อมา ที่แม่น้ำหินตก อยู่เป็นประจำ เพื่อหาซื้อเสบียงจากพ่อค้าชาวไทยที่ค้าขายตามลำน้ำแควน้อย เชลยสงครามที่ป่วยหนักก็ถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายแม่น้ำเพื่อรอการอพยพโดยทางเรือไปยังค่ายพยาบาลที่อยู่ปลายลำน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ท่าเสา กาญจนบุรี และช่องไก่

   แต่ถึงกระนั้น โดยรวมแล้ว แต่ละค่ายก็ถือเป็นเหมือนโลกที่แยกกันอยู่อย่างสิ้นเชิง โดยมีฝ่ายญี่ปุ่นปฏิบัติกับพวกเขาอย่างเข้มงวดราวกับเป็นห้องกันน้ำ กระทั่งมาเลย์ แฮมเล็ตยังถูกบริหารโดยหน่วยบัญชาการฝ่ายญี่ปุ่นที่แตกต่างไปอีกหน่วย คือ มาเลย์ คอมมานด์ แทนที่จะเป็นไทยแลนด์ คอมมานด์เหมือนค่ายอื่น ๆ ความอิจฉาริษยาระหว่างหน่วยบัญชาการทั้งสองนี้ ทำให้ความร่วมมือระหว่างกันในการบริหารค่ายเชลยในเขตคอนนิว-หินตกนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

   เนื่องจากว่าค่ายเชลยในภูมิภาคนี้เป็นค่ายชั่วคราว จึงไม่มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับค่ายเชลยหลักถาวร เช่น ที่กาญจนบุรี และท่ามะขามที่ห่างออกไปทางทิศใต้ เมื่อการสร้างทางรถไฟในบริเวณนั้น ๆ เสร็จสิ้นลง และเชลยแรงงานได้ย้ายไปยังอีกที่หนึ่ง ค่ายเหล่านี้ก็หมดเหตุผลในการดำรงอยู่ อย่างไรก็ดี ค่ายเชลยบางค่ายที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟก็ถูกเก็บไว้เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมทางรถไฟในปี พ.ศ. 2487-88 เนื่องจากว่าได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดอย่างหนักของฝ่ายพันธมิตร

   หลังสงครามสิ้นสุด เมื่อศพของเชลยสงครามได้ถูกกู้คืนมาจากสุสานของค่ายเชลยต่าง ๆ และทางรถไฟสายไทย-พม่าถูกรื้อถอน บริเวณที่ตั้งค่ายเชลยก็อันตรธานหายไปในป่าและภูมิประเทศ บางค่ายที่ตั้งอยู่ริมน้ำ เช่น ค่ายเชลยแม่น้ำหินตก และท่าเสา กลายเป็นรีสอร์ทสำหรับนักท่องเที่ยว การเข้าถึงแม่น้ำแควน้อยที่ทำให้บริเวณนี้เป็นทำเลเหมาะแก่การตั้งค่ายเชลย ได้กลายเป็นจุดดึงดูดนักแสวงหาความสำราญแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด และนักท่องเที่ยวเชิงผจญภัย



กาญจนบุรี+โฮมสเตย์ (KH301)

การรื้อฟื้นช่องเขาขาด

   หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ทางรถไฟสายไทย-พม่าเกือบทั้งหมดถูกรื้อถอนไป ทางฝั่งไทยยังเก็บส่วนที่มีความยาว 130 กิโลเมตรไว้และยังเปิดใช้งานในทิศใต้ของทางรถไฟ แต่ส่วนที่เหลือนั้นซื่งรวมถึงช่องเขาขาด (การตัดภูเขาที่คอนนิว) สาบสูญไปใต้พื้นที่ทางการเกษตร ป่า และแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ใกล้พรมแดนเมียนมาร์ (ในอดีตคือพม่า)  อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษปี พ.ศ. 2523-2532 อดีตเชลยสงครามชาวออสเตรเลียเริ่มที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศไทย เช่นเดียวกันกับทหารผ่านศึกจำนวนมาก พวกเขารู้สึกถึงความจำเป็น ในขณะที่พวกเขาเริ่มอายุมากขึ้น ในการที่จะ ‘กลับไปเยี่ยมเยียน’ สถานที่ต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แสนสาหัสเมื่อสี่สิบปีก่อนหน้านั้น

อดีตเชลยสงคราม
อดีตเชลยสงครามชาวออสเตรเลียห้าคน ที่ช่องเขาขาด ปี พ.ศ. 2528
   ปี พ.ศ. 2528 ท่านเซอร์เอ็ดเวิร์ด ‘เวียรี’ ดันลอป และกลุ่มอดีตเชลยสงครามได้เดินทางกลับมาที่คอนนิวเพื่อเยี่ยมชมช่องเขาขาด (การตัดภูเขาที่คอนนิว) จากซ้าย แจ็ค ชอล์คเกอร์ ดันลอป ‘บลู’ บัตเตอร์เวิร์ธ บิล ฮาสเคล เดส จอห์นสัน และคีธ ฟลาเนแกน [โดยความเอื้อเฟื้อจาก อีริค วิลสัน]

   แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นหา พวกเขาก็พบช่องเขาขาดซึ่งเต็มไปด้วยป่าหญ้ารกเรื้อปกคลุม ทอม มอริส หนึ่งในอดีตเชลยสงครามจากรัฐวิกตอเรียได้แสดงความจำนงในปี พ.ศ.2526 ในการพัฒนาช่องเขาขาดให้เป็นสถานที่สำหรับการรำลึกเพื่อเชิดชูเชลยสงครามฝ่ายพันธมิตรและคนไทยที่เสี่ยงชีวิตเพื่อส่งเสบียงอาหารและยารักษาโรคให้แก่พวกเขา

   ด้วยเงินทุนจากรัฐบาลออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2528 ได้มีการทำการสำรวจทางรถไฟโดย จิม แอปเปิ้ลบี้ วิศวกรจากบริษัทสโนวี่เมาท์เทน เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น (Snowy Mountains Engineering Corporation – SMEC) ซึ่งบังเอิญว่าเป็นผู้หนึ่งที่ทำงานสร้างเขื่อนที่แม่น้ำแควน้อยตอนบนด้วยเช่นกัน

   สิ่งนี้เป็นการยืนยันว่าช่องเขาขาดเป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการรำลึกถึงประสบการณ์ของเชลยสงคราม เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ มีความสำคัญต่อจิตใจและใกล้กับถนนเส้นสำคัญ (ทางหลวงหมายเลข 323) ซึ่งเชื่อมกาญจนบุรีกับด่านเจดีย์สามองค์

  ในตอนแรกการพัฒนาช่องเขาขาดเกิดจากความร่วมมือของสภาหอการค้าออสเตรเลีย-ไทย (นำโดยเคน แบรดเลย์ ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ) ทำงานร่วมกันกับ SMEC สถานทูตออสเตรเลียที่กรุงเทพฯ และหน่วยอื่น ๆ จากกองกำลังฝ่ายกลาโหมของออสเตรเลีย มีการถางบริเวณการตัดภูเขาในป่า มีการเก็บ ‘โบราณวัตถุ’ จากทางรถไฟ ดังเช่นไม้หมอน และรางรถไฟ และมีการสร้างบันไดลงไปตามทางที่สูงชันจากถนน

   ได้มีการอุทิศช่องเขาขาด ในวันแอนแซคเดย์ ปี พ.ศ. 2530 เมื่อท่านเซอร์ เอ็ดเวิร์ด ‘เวียรี’ ดันลอป ศัลยแพทย์เชลยสงคราม ได้ทำพิธีเปิดผ้าคลุมป้ายแผ่นจารึกอนุสรณ์ ด้วยความบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ วันที่ 25 เมษายน นั้นก็เป็นวันที่เชลยสงครามชาวออสเตรเลียได้เริ่มใช้แรงงานบริเวณรอบช่องเขาขาดในปี พ.ศ. 2486

   สถานที่ดังกล่าวยังคงได้รับการพัฒนาต่อไปอีกหลายปีโดยทั้งบุคคลและโครงการของรัฐผสมผสานกัน ‘บิล’ ทูน ชาวรัฐวิกตอเรียได้เรี่ยไรทุนราว 90,000 เหรียญจากการขายสติ๊กเกอรื หนังสือ และ ‘โบราณวัตถุ’ จากทางรถไฟ ร็อด บีทตี อดีตชายผู้รักชาติชาวออสเตรเลียซึ่งอาศัยอยู่ที่กาญจนบุรี ได้เข้าไปช่วยถางต้นไม้ที่ทางรถไฟจากช่องเขาขาดไปจนถึงบริเวณการขุดเจาะด้วยเครื่องอัด (ส่วนที่ในขณะนี้เป็นทางเดิน) ด้วยตนเอง

ช่องเขาขาด

   ปี พ.ศ. 2535 รอส บาสเตียน ปริทันตแพทย์ชาวเมลเบิร์น ได้นำแผ่นจารึกทองสัมฤทธิ์แผ่นหนึ่งจากหลายต่อหลายแผ่นซึ่งเขาได้ติดตั้งไว้ตามสถานที่ที่เป็นสนามรบรอบโลก ไว้ใกล้ช่องเขาขาด แผ่นจารึกนี้ซึ่งมีแผนที่สามมิติและประวัติโดยย่อของทางรถไฟ ยังสามารถพบได้ที่จุดใกล้ ๆ ขั้นบันไดคอนกรีตอันเก่าซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นบันไดไม้เมื่อไม่กี่ปีมานี้

   แผ่นจารึกทางรถไฟสายไทย-พม่าเมื่อคราวฉลองครบรอบ 50 ปี ปีพ.ศ. 2535 พร้อมทั้งแผนที่ลอยตัวแสดงสถานที่ตั้งต่าง ๆ ที่สำคัญ  ที่ขั้นบันไดคอนกรึตชุดเก่าไปสู่ช่องเขาขาด (การตัดภูเขาที่คอนนิว) (ปัจจุบันมีบันไดไม้มาแทน) จะพบแผ่นจารึกของรอส บาสเตียน สิ่งนี้เป็นหนึ่งในแผ่นจารึกที่แสดงความรำลึกอีกมากมายหลายแผ่นที่พบได้ในสนามรบรอบโลก แผ่นจารึกที่บรรยายถึงทางรถไฟสายไทย-พม่าที่คล้ายคลึงกันนี้จะพบได้ที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว ด้านนอกสุสานสงครามกาญจนบุรี ที่ปลายทางของสถานีน้ำตก และที่ด่านเจดีย์สามองค์ใกล้พรมแดนไทย-เมียนมาร์ แผ่นจารึกนี้ได้รับการออกแบบและประดิษฐ์ด้วยมือโดยบาสเตียนเอง เป็นหลักฐานพิสูจน์ถึงบทบาทอันเข้มแข็งที่แต่ละบุคคลจะมีได้ในการแสดงความรำลึกถึงสงคราม [ภาพถ่ายโดย: คิม แม็คเคนซี] 
  ในวันแอนแซคเดย์ ปี พ.ศ. 2537 มีการนำเถ้ากระดูกส่วนหนึ่งของดันลอปไปฝังไว้ที่ช่องเขาขาดและมีการติดตั้งแผ่นจารึกอนุสรณ์ที่บนหน้าก้อนหินและผ่านพิธีเปิดสำหรับแพทย์เชลยสงคราม เถ้ากระดูกอีกส่วนหนึ่งของดันลอปได้มีการนำไปโปรยที่ฟาร์มของเขาในรัฐวิกตอเรีย และส่วนที่สามได้มีการนำไปลอยอังคารในแม่น้ำแควน้อย ที่โฮมพุเตยซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น ที่นี่ นายคณิศวร์ วรรณโชติ ซึ่งได้พบกับดันลอปในการเดินทางไปยังประเทศไทยครั้งหนึ่งของเขาและได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ได้จัดสร้างสวนเวียรี ดันลอปขึ้น

  ตั้งแต่กลางทศวรรษปี พ.ศ. 2533-2542 รัฐบาลออสเตรเลียได้เข้ามาถือบทบาทการจัดการดูแลช่องเขาขาดและทางเดิน นายกรัฐมนตรีนายพอล คีทติ้ง ได้มาร่วมพิธีวันแอนแซคเดย์ในปี พ.ศ. 2537 และได้สั่งการให้รัฐบาลออสเตรเลียดำเนินการสร้างช่องเขาขาด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ ซึ่งเปิดในปี พ.ศ. 2541 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่เหนือช่องเขาขาด สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่ผู้เสียชีวิตที่ทางรถไฟ นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ให้ข้อมูลด้านความประวัติศาสตร์ของช่องเขาขาดและการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าอีกด้วย

ทหารผ่านศึกที่เดินทางกลับมาในช่วงปี พ.ศ. 2523-2532 เป็นกลุ่มแรกของทหารชาวออสเตรเลียหลายพันคนที่ออกมาค้นหาสถานที่แห่งความทรงจำนี้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดของปี ผู้มาเยือนจะได้พบกับดอกแฟลนเดอร์ส ป๊อบปี้ ธงชาติออสเตรเลีย หรือข้อความที่แต่ละคนฝากไว้เป็นที่ระลึกสอดไว้ตามรอยแตกของช่องเขาขาด

แม่น้ำแควน้อย
สิ่งจำเป็นในการเอาชีวิตรอดจากค่ายเชลยแรงงานในบริเวณคอนนิวและหินตก คือแม่น้ำแควน้อย ซึ่งโดยปกติก็มีการสร้างทางรถไฟตามแนวลำน้ำนี้ ด้วยสภาพเส้นทางจากกาญจนบุรีไปยังชายแดนไทย-พม่า ที่มีความทุรกันดาร ทำให้แม่น้ำนี้เป็นแหล่งเสบียงอันสำคัญ – ถึงแม้ว่าในหน้ามรสุม เมื่อแม่น้ำเอ่อล้นและเชี่ยวกราก ทำให้การเดินทางทางน้ำมีอันตรายก็ตาม นอกจากนี้ แม่น้ำแควน้อยยังถูกใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังค่ายพยาบาลที่อยู่ปลายน้ำอีกด้วย [ภาพถ่ายโดย: คิม แม็คเคนซี]

ช่องเขาขาด
นักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้หยุดหน้าแผ่นจารึกที่ปลายการตัดภูเขาที่ช่องเขาขาด สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็น ‘ศาลสถาน’ ที่ผู้มาเยี่ยมเยียนจะวางไม้กางเขน ดอกป๊อบปี้ ภาพถ่าย ตะปูรางรถไฟที่พบตามทางรถไฟ และสัญญลักษณ์แห่งการรำลึกอื่น ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แสดงความเป็นออสเตรเลียที่โดดเด่น: ธงชาติ ข้อความ ภาพถ่าย ตุ๊กตาหมีโคอาล่า และบูมเมอแรง [ภาพถ่ายโดย: คิม แม็คเคนซี]



ที่พักอำเภอไทรโยค
ทีมงานสต๊าฟ ว้าว ทูเกเตอร์ ทราเวล
Visitors: 110,050