บ้านคลิตี้ล่าง


วิถีชีวิตของชาวบ้านคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงแห่งนี้ พึ่งพาลำห้วยมาเป็นเวลาช้านาน พวกเขาใช้ประโยชน์ทั้งดื่มกิน ใช้อาบน้ำ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ แต่จากการเข้ามาของโรงแต่งแร่ เมื่อปี 2510ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เส้นเลือดใหญ่ที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนมารุ่นแล้วรุ่นเล่า กลับไม่เหมือนเดิม แปรสภาพเป็นลำธารมรณะ ที่นำโรคภัยแปลกๆ เข้ามาสู่คนในหมู่บ้าน ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากมาย แม้สมุนไพรที่เคยใช้บรรเทาโรคมาหลายชั่วคนก็ไม่ได้ผล
เหตุการณ์สารตะกั่วรั่วไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้ เป็นคดีในศาลปกครองประมาณ 16 ปี หลังจากชนะคดีโดยศาลปกครองสั่งให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 สารตะกั่วดังกล่าวทำให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้รับผลกระทบทางสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ โดยการต่อสู้ที่ผ่านมาเป็นหน้าที่คนรุ่นปู่ย่าตายายแล้วสานต่อมายังรุ่นพ่อแม่ ในวันนี้เด็กที่เกิดมาพร้อมกับปัญหาสารตะกั่วเติบโตขึ้นเป็นเยาวชนที่พร้อมมาช่วยพัฒนาหมู่บ้านคลิตี้ล่างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งสืบสานวัฒนธรรมกะเหรี่ยงไว้ให้คงอยู่ ทั้งนี้ ปัจจุบันชุมชนคลิตี้ล่างมี 145 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 400 คน จากปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วทั้งในดินและน้ำ เยาวชนส่วนหนึ่งมีแนวคิดที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น แม้ว่าสารตะกั่วยังไม่หายไปจากวิถีชีวิตของพวกเขา
วิถีชีวิตของชาวคลิตี้ โดยเฉพาะชาวคลิตี้ล่าง แต่เดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ เพาะปลูกข้าว ข้าวโพด ผักสวนครัว และเครื่องเทศ เช่น มะเขือเทศ ผักชี ต้นหอม พริก กระเทียม เผือก ฯลฯ ไว้บริโภคภายในครัวเรือน โดยอาศัยน้ำจากลำห้วยคลิตี้ในการเพาะปลูก อุปโภค และบริโภค สัตว์น้ำต่างๆ โดยเฉพาะปลาก็หาได้ง่ายๆ จากลำห้วย เครื่องใช้ต่างๆ เช่น ตะกร้า กระบุง ก็สานใช้เองจากตอก เสื้อผ้าก็ทอใช้เอง ผู้หญิงใส่ผ้าถุง ผู้ชายนุ่งโสร่ง ไม่ได้ใส่กางเกงอย่างในปัจจุบันดังนั้น การดำรงชีวิตในสมัยก่อนจึงพึ่งพา “เงิน” ไม่มากนัก แต่หลังจากสารตะกั่วปนเปื้อนลงแหล่งน้ำและหน่วยงานราชการแนะนำให้งดใช้น้ำจากลำห้วยวิถีชีวิตของชาวคลิตี้จึงเปลี่ยนแปลงไป สูญเสียทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร พึ่งพาคนภายนอก และต้องหาเงินเพื่อการยังชีพมากขึ้น ชาวบ้านมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อซื้ออาหารทั้งผักและเนื้อสัตว์ รวมทั้งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตรหลานที่เริ่มออกไปเรียนนอกชุมชนมากขึ้น ดังนั้นชาวบ้านจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว
การปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ เป็นทางเลือกที่คนภายนอกแนะนำเข้ามา และชาวคลิตี้ก็ตัดสินใจปลูกเพื่อค้าขาย กลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชาวคลิตี้จนถึงปัจจุบัน และนั่นทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และผูกพันเป็นวงจรที่เลิกทำได้ยาก เพราะมีนายทุนนำเมล็ดพันธ์ุ ปุ๋ย ยาเคมี เข้ามาให้ชาวบ้านซื้อในแบบเงินเชื่อ แล้วหักค่าใช้จ่ายตอนขายผลผลิตซึ่งกลายเป็นต้นทุนที่มากถึงร้อยละ 80 ของรายได้ โดยมีราคาข้าวโพดอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-8 บาท ผลผลิตประมาณ 800-900 กิโลกรัมต่อไร่
นอกจากข้าวโพดอาหารสัตว์แล้ว ชาวคลิตี้เริ่มปลูกยางพาราและมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจด้วย ส่วนพืชผักเครื่องเทศอื่นๆ ก็ปลูกไว้ทานในครัวเรือน และหากมีมากพอก็จะขายบางส่วน เช่น พริก แตงเปรี้ยว สำหรับบางครัวเรือนก็ให้ชาวม้งมาเช่าที่ราคาไร่ละ 400 บาทต่อเดือนเพื่อปลูกกะหล่ำปลี ลุ่ย ฟักแม้ว ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะ ในขณะที่โดยดั้งเดิมแล้วชาวกะเหรี่ยงจะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และในการทำเกษตรกรรมก็อาศัยน้ำจากน้ำฝนเท่านั้น

ปัจจุบันชาวบ้านช่วยกันสร้างถังพักน้ำประปาภูเขา 3 ถังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้งบประมาณ 840,000 บาท โดยใช้เงินกองกลางของชาวบ้าน 22 คนจากที่ได้จากการชนะคดีในศาลปกครอง ซึ่งตอนนี้ก็เกือบจะหมดแล้ว ในขณะที่ต้องใช้งบประมาณสำหรับท่อประปาอีกประมาณ 4.6 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 สาย คือ ตอนเหนือของหมู่บ้าน ศูนย์กลางหมู่บ้าน (วัด โรงเรียน) และตอนปลายหมู่บ้าน ซึ่งจะเริ่มทำสายแรกที่ศูนย์กลางหมู่บ้านก่อน แต่ว่างบประมาณอาจจะสูงกว่าข้างต้นอีกเท่าตัวหากต้องติดที่กรองน้ำ เนื่องจากน้ำประปาภูเขามีตะกอน และผลจากการตรวจน้ำในปี 2542 พบว่ามีค่าตะกั่วในน้ำ 0.03 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีค่าไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ทุกวันนี้แม้จะมีข่าวเกี่ยวกับสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยแห่งนี้ แต่ชาวบ้านก็ยังจับสัตว์น้ำมากินอยู่เพราะหากไม่กินก็ไม่รู้จะไปกินอะไร พวกเขาจำต้องยอมรับชะตากรรมจากความมักง่าย และขาดความรับผิดชอบต่อชุมชนของนายทุน โดยที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยง
