อุทยานแห่งชาติไทรโยค

อุทยานแห่งชาติไทรโยค
   อุทยานแห่งชาติไทรโยคสภาพส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูนมีความลาดชันโดยเฉลี่ยประมาณ 35 % อยู่ระหว่าง 300-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จุดสูงสุดของพื้นที่คือ เทือกเขาเราะแระ สูงประมาณ 1,125 เมตร มีลำน้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำน้อย แม่น้ำเลาะห์ กระจายทั่วพื้นที่ ส่วนหนึ่งของภูเขาเทือกนี้ทอดตัวยาวจากเหนือลงมาทางทิศใต้ ทิศเหนือ อาณาเขตติดต่อกับเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยเขย่ง ทิศใต้ อาณาเขตติดต่อกับเขตป่าสงวนแห่งชาติวังใหญ่แม่น้ำน้อย ทิศตะวันออกอาณาเขตติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ทิศตะวันตก อาณาเขตติดต่อกับ ประเทศพม่า มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสน้ำตกไทรโยค และได้ลงสรงน้ำในธารน้ำอันเย็นฉ่ำภายใต้ร่มเงาแห่งแมกไม้ของป่าใหญ่ และเป็นแรงบันดาลใจให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงประพันธ์บทเพลง “เขมรไทรโยค” จนความงามของน้ำตกไทรโยคเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว
   เดิมพื้นที่ป่าบริเวณป่าวังใหญ่ และป่าแม่น้ำน้อย ในท้องที่ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ และตำบลไทรโยค ตำบลลุ่มสุ่ม ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 417 (พ.ศ. 2512) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2512 และป่าห้วยเขยง ท้องที่ตำบลท่าขนุน ตำบลปิล้อก ตำบลหินดาด และตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ และตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค ได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 480 (พ.ศ. 2515) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2515
อุทยานแห่งชาติไทรโยค
เดือนธันวาคม 2519 กองอุทยานแห่งชาติได้รับแจ้งจากนายสมจิตต์ วงศ์วัฒนา หัวหน้าสวนสักไทรโยค ว่า บริเวณป่าน้ำตกไทรโยคมีสภาพป่าและสภาพธรรมชาติสวยงามมาก เหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติจึงมีหนังสือ ที่ กส 0808/3203 ลงวันที่ 14ธันวาคม 2519 เสนอกรมป่าไม้ให้ นายสมบูรณ์ วงศ์ภักดี นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นบริเวณป่าวังใหญ่ ป่าแม่น้ำน้อย และป่าห้วยเขยง จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่า บริเวณดังกล่าว มีธรรมชาติสวยงามที่สำคัญหลายแห่ง เช่น น้ำตกไทรโยค ถ้ำต่างๆ และสถานที่ทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง กล่าวคือ ในระหว่าง พ.ศ. 2484-2488 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เกณฑ์ทหารเชลยศึกทำการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อที่จะเป็นเส้นทางต่อเข้าไปยังประเทศพม่า ส่วนหนึ่งของเส้นทางผ่านเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เลียบลำน้ำแควน้อยไปจนจรดด่านเจดีย์สามองค์ ที่อำเภอ สังขละบุรี บริเวณต้นน้ำตกไทรโยคเป็นแหล่งหุงหาอาหารและที่พักพิงหลบภัย ดังปรากฏเตาหุงข้าวของทหารญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน เหมาะสมที่จะตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามบันทึกรายงานการสำรวจ ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2520 กองอุทยานแห่งชาติจึงได้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ และเพื่อสนองนโยบายคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 9 มกราคม 2522 ในการที่จะเสริมมาตรการ อนุรักษ์ธรรมชาติ โดยจัดให้มีอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ซึ่งกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 2294/2522 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2522 ให้นายพิภพ ละเอียดอ่อน นักวิชาการป่าไม้ 5 และนายภูมิ สมวัฒนศักดิ์ ช่างโยธา 3 ไปดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติไทรโยค ซึ่งได้มีหนังสือ ที่ กส 0708/9 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2522 รายงานผลการสำรวจเพิ่มเติมว่าพื้นที่ดังกล่าวมีจุดเด่นและสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามเหมาะสมเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2523 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังใหญ่ ป่าแม่น้ำน้อย และป่าห้วยเขยง ในท้องที่ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ และตำบลไทรโยค ตำบลวังกระแจะ ตำบลบ้องตี้ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 312,500 ไร่ หรือ 500 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 165 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2523 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 19 ของประเทศไทย และเป็นอุทยานแห่งชาติทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ขนาดพื้นที่ 312500.00 ไร่

   หน่วยงานในพื้นที่

หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยคที่ ทย.1 น้ำตกไทรโยคน้อย
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ ทย.2 ถ้ำดาวดึงส์
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ ทย.3 ถ้ำละว้า
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ ทย.4 บ้องตี้
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ ทย.5 แม่น้ำน้อย
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ ทย.6 เขาพลู
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ ทย.7 น้ำวน
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ ทย.8 เขารวก
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ ทย.9 โป่งไข่

   ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิประเทศโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนส่วนใหญ่มีความสูงโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 300-600 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางเทือกเขาส่วนใหญ่จะทอดยาวจากตอนเหนือของพื้นที่ด้านทิศตะวันตกติดชายแดนพม่าจะมีความสูงชันมากกว่าด้านทิศตะวันออก จุดสูงสุดของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ คือ เทือกเขาเราะแระ ซึ่งสูงประมาณ 1,132 เมตร ตั้งอยู่บริเวณแนวเขตด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากบริเวณเชิงเขาจะเป็นที่ราบถึงที่ราบลอนคลื่นในระหว่างหุบเขาและร่องน้ำ ที่ราบลุ่มอันเกิดจากตะกอนลำน้ำจะมีพื้นที่ไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขาดังที่กล่าวมาแล้ว จากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาความลาดชันโดยรวมจึงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางเหนือใต้ พื้นที่ด้านทิศตะวันตกและบางจุดของพื้นที่ริมลำน้ำแควน้อย พื้นที่ราบความลาดชัน 0-8% ที่เป็นบริเวณกว้างกว่าจุดอื่น ๆ ปรากฏเฉพาะริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแควน้อยตอนบนที่จุดไหลผ่านเขตอุทยานแห่งชาติบริเวณบ้านวังกร่าง บ้านไทรโยค และที่ทำการอุทยานแห่งชาติไทรโยคทางทิศตะวันออกริมห้วยแม่น้ำน้อย ห้วยผึ้ง และตอนกลางของพื้นที่บริเวณห้วยแห้ง และห้วยบ้องตี้ เท่านั้น 

  • อาณาเขตติดต่อด้านทิศเหนือ:เขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยเขย่ง 
  • อาณาเขตติดต่อด้านทิศใต้:เขตป่าสงวนแห่งชาติวังใหญ่แม่น้ำน้อย 
  • อาณาเขตติดต่อด้านทิศตะวันออก:อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 
  • อาณาเขตติดต่อด้านทิศตะวันตก: ประเทศสหภาพพม่า

   ลักษณะภูมิอากาศ
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติไทรโยค เป็นพื้นที่สูงและยังคงพื้นที่ป่าไม้ ทั้งยังมีแนวสันเขายาวกั้นแนวพรมแดน ทำให้ลักษณะอากาศภายในพื้นที่มีความผันแปรค่อนข้างมาก ประกอบกับได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้อากาศเย็นและแห้งแล้ง และได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝนทำให้มีฝนตกและอากาศชุมชื้น จากข้อมูลของสถานีตรวจวัดอากาศในลุ่มน้ำแม่กลองซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยคมากที่สุด สามารถสรุปลักษณะภูมิอากาศได้ดังนี้

   ฤดูกาล : สามารถแบ่งได้ 3 ฤดูกาล กล่าวคือ

  • ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยเดือนกันยายนจะเป็นเดือนที่ฝนตกชุกที่สุด 
  • ฤดูหนาวจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์โดยช่วงเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงหนาวเย็นที่สุด 
  • ฤดูร้อน เริ่มประมาณเดือนเมษายน จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งในช่วงนี้เป็นระยะที่ลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมพื้นที่ ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยช่วงเดือนเมษายนของทุกปีจะเป็นช่วงอากาศร้อนอบอ้าวที่สุด

   อุณหภูมิ  
เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติไทรโยคเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนจะมีอากาศร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนและค่อนข้างหนาวเย็นในฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 27.02 องศาเซลเซียสอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 15.43 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.1 องศาเซลเซียส

   ความชื้นสัมพัทธ์ 
สภาพความชื้นของพื้นที่จะมีความชื้นสัมพัทธ์กับมวลอากาศ และอิทธิพลของมรสุมที่สำคัญในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม อากาศจะหนาวเย็นในตอนเช้าและความชื้นสัมพัทธ์สูง แต่จะลดต่ำลงอย่างรวดเร็วในช่วงบ่ายถึงเย็น ช่วงฤดูร้อนอากาศจะแห้งแล้งและอบอ้าวมาก ความชื้นสัมพัทธ์จะต่ำกว่าในฤดูหนาว และสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ความชื้นสัมพัทธ์ของพื้นที่เฉลี่ยตลอดปี 76.5 % โดยมีความชื้นสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 89.92% และความชื้นต่ำสุดในเดือน มิถุนายน 62.30 %
   ปริมาณน้ำฝน  
โดยเฉลี่ยแล้วปริมาณน้ำฝนที่ตกตลอดปีไม่สูงมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งทอดยาวตลอดพรมแดนไทย-พม่า ปิดกั้นลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดผ่าน ทำให้ลมดังกล่าวอ่อนกำลังลง ส่วนหนึ่งของพื้นที่มีสภาพเป็นบริเวณอับฝน ปริมาณน้ำฝนรวมทั้งปีประมาณ 975.4 มิลลิเมตร โดยเดือนกันยายนจะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกมากที่สุด คือประมาณ 178.2 มิลลิเมตร และเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม จะเป็นเดือนที่แทบจะไม่มีฝนตกเลย


แพลนเที่ยวอำเภอไทรโยค กาญจนบุรี
   ลักษณะพืชพรรณธรรมชาติ
 เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยคส่วนใหญ่มีสภาพเป็นภูเขา และตั้งอยู่ที่ระดับความสูงแตกต่าง 100 เมตร ไปจนถึงประมาณ 1,125 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลให้สังคมพืชแตกต่างกันตามระดับความสูงจากการแปรและตีความ ภาพถ่ายดาวเทียม ปี พ.ศ.2533 ประกอบการตรวจสอบภาคพื้นดิน สามารถจำแนกพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ได้เป็น 7 ส่วน แต่ละส่วนมีขนาดเนื้อที่เปอร์เซ็นต์ต่อพื้นที่ (ภาพที่ 10) ซึ่งจากภาพจะพบว่าขนาดพื้นที่ ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกามีพื้นที่ 958 ตารางกิโลเมตรส่วนชนิดของสังคมพืช ผลการแปลและตีความภาพถ่ายดาวเทียมลักษณะโครงสร้างสังคมพืช และชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญพบว่าสังคมพืชหลักของพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค คือ ป่าผสมผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) ซึ่งมีเนื้อที่ 810.03 คิดเป็น 84.47 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค โดยแยกย่อยออกได้เป็น ป่าผสมผลัดใบ ป่าผสมผลัดใบผสมไผ่ และป่าไผ่ ส่วนที่เหลือจำแนกออกเป็นป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) และป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ซึ่งป่าทั้งสองชนิดนี้มีเนื้อที่ไม่มากนักส่วนพื้นที่ที่ถูกแผ้วถางทิ้งรกร้างไว้ และพื้นที่ที่ถูกบุกรุกยังคงใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมอยู่
จากการวางแปลงสำรวจโครงสร้างสังคมพืชและชนิดพันธุ์ไม้ใน 3 สังคมพืชที่ปรากฏในพื้นที่ พบว่าในแต่ละชนิดมีสภาพและชนิดไม้ที่สำคัญ ดังนี้

   ป่าผสมผลัดใบ ( Mixed Deciduous Forest )
ป่าชนิดนี้เป็นชนิดของสังคมพืชที่มีเนื้อที่มากที่สุดในอุทยานแห่งชาติ คือ 810.03 ตารางกิโลเมตรคิดเป็น 84.47% ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พบว่าการกระจายทั่วไปพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับ น้ำทะเลปานกลางระหว่าง 150-6000 เมตร ป่าชนิดนี้มีเรือนยอด 4 ชั้น ความสูงของเรือนยอดชั้นบนสุดประมาณ 25-30 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญในชั้นนี้ได้แก่ ขานาง ขี้อ้าย แดง และตะแบกแดง เ รือนยอดชั้นที่ 2 มีความสูงประมาณ 20-25 เมตรพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เขลง แคห่างค่าง งิ้วป่า ตะคร้อ ตะแบกเลือด ประดู่ เปล้าใหญ่ มะกอกเกลื้อน มะดูก แสมสาร สองสลึง และเส้า เรือนยอดชั้นที่ 3 มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ กระพี้เขาควาย กาสามปีก กรวยป่า ขะเจ๊าะ ขี้หนอน ชิงชัน ชัยพฤกษ์ ตะเคียนหนู ตะแบกกราย ตะแบกเปลือกบาง ติ้วแดง เต็งหนาม ผาเสี้ยน ยางโอน ลำไยป่า สะแกแสง และส้านหิ่ง เรือนยอดชั้นที่ 4 มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ กระพี้จั่น เก็ดแดง เสลาดำ แคห่างค่าง ตะคร้ำ ติ้วขนไทร นางนวล ปรู ปอแดง ผักหวาน ไผ่รวก ไผ่หางช้าง เพกา มะม่วงหัวแมงวัน เหมือดโลด และเสี้ยวเครือ พื้นที่ป่าประกอบด้วยกล้าไม้ของไม้ชั้นบนและพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ กะตังใบกระชายป่า กราวเครือ กลอย เครือมัน คนทา หนามขี้แรด นมแมว บุก เปราะป่า ผักปราบ แสลงพัน สาบเสือ เอื้องหมายนา และอื่น ๆ จากการสำรวจพันธุ์พืชในป่าผสมผลัดใบโดยใช้แปลงตัวอย่างขนาด 10X10 เมตร จำนวน 13 แปลงตัวอย่าง พบว่าป่าชนิดนี้มีเรือนยอดปกคลุมพื้นที่ป่าประมาณ 50% พบไม้ทั้งหมดประมาณ 73 ชนิด มีพื้นที่หน้าตัดเฉลี่ย 27.4278 ตารางเมตรต่อเฮกแตร์ มีความหนาแน่นเฉลี่ย 220 ตันต่อเฮกแตร์ ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest ) ป่าดิบแล้งในอุทยานแห่งชาติไทรโยค ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่ค่อนข้างชุ่มชื้นทางทิศเหนือของอุทยานโดยเฉพาะในเขตอำเภอทองผาภูมิ และทิศตะวันตกชายแดนพม่า จากความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 450-600 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 28.26 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 20.95 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 20.95 % ของพื้นที่ทั้งหมดลักษณะโครงสร้างทางด้านตั้งของเรือนยอดแบ่งออกเป็น 4 ชั้น เรือนยอดชั้นบนสุดสูงประมาณ 30-35 เมตร ไม้สำคัญได้แก่ กระบก ยางแดง และหว้า เรือนยอดไม้ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 25-30 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ กระบาก ตะแบกแดง มะส้าน มังตาล ( ทะโล้ ) และยางนา เรือนยอดชั้นที่ 3 ความสูงประมาณ 20 -25 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อ และยางโอน ส่วนเรือนยอดของชั้นไม้ขนาดเล็ก ( ชั้น 4 ) มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ กระพี้จั่น ชมพูป่า เหมือ และแหว้ พื้นที่ป่าดิบแล้งประกอบด้วยกล้าไม้ของไม้ชั้นบน เช่น กระบาก กระบก ยางนา ยางแดง และพันธุ์ไม้อื่นๆเช่นกระตังใบ กลอย กล้วยไม้ดิน กบสามเหลี่ยม เครือมัน คนฑา ตดหมูตดหมา ถั่วแปบ เปราะป่า ผักปราบ สาบเสือ เสี้ยว สกุลขิง และอื่นๆ จากการสำรวจพันธุ์พืชในป่าดิบแล้งโดยใช้แปลงตัวอย่างขนาด 10x10 เมตร จำนวน 3 แปลงตัวอย่าง พบว่าป่าชนิดนี้มีเรือนยอดปกคลุมพื้นที่ป่าประมาณ 65% พบไม้ทั้งหมดจำนวน 31 ชนิดพันธุ์ พื้นที่หน้าตัดเฉลี่ย 8.3958 ตารางเมตรต่อแฮกแตร์ มีความหนาแน่นเฉลี่ย 207 ตันต่อแฮกแตร์

   ป่าเต็งรัง ( Dry Dipterocarp Forest )
ป่าเต็งรังในอุทยานแห่งชาติไทรโยคพบขึ้นกระจัดกระจายทางด้านทิศใต้ของพื้นที่ของอุทยาน ฯ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 80-400 เมตร บริเวณพื้นที่แห้งแล้ง มีดินตื้นจนลึก ปานกลาง ส่วนบริเวณที่สูงและมีความลาดชันมากนักจะมีหินโผล่ทั่วไป มีเนื้อที่ประมาณ 24.18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2.52 % ของพื้นที่ทั้งหมด ป่าชนิดนี้มีเรือนยอด 3 ชั้น ความสูงของเรือนยอดชั้นบนสุดประมาณ 20-25 เมตรพันธุ์ไม้ที่สำคัญในชั้นนี้ ได้แก่ ยางพลวง ยางเหียง มะกอกเกลื้อน กาสามปีก และงิ้วป่า ส่วนเรือนยอดของไม้ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญในชั้นนี้ ได้แก่ แดง รกฟ้า ขว้าว ก่อแพะ กุ๊ก ส้านใหญ่ หาด เปล้าหลวง และเหมือดโลด เป็นต้นพื้นที่ป่าประกอบด้วยกล้าไม้ของไม้ชั้นบนเป็นส่วนใหญ่และพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ เช่น มะม่วงหัวแมงวัน ตะคร้อ เสี้ยวป่า เสี้ยวเครือ เกด ตาล ตาลเหลือง ผักหวาน หว้า ประดู่ ผาเสี้ยน ตะแบกกราย ตะแบกเปลือกบาง มะเม้า กระพี้เขาควาย ไผ่หางช้าง และพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ จากการสำรวจพันธุ์พืชในป่าเต็งรังโดยใช้แปลงตัวอย่างขนาด 10x10 เมตร จำนวน 5 แปลง พบว่าป่าชนิดนี้มีเรือนยอดปกคลุมพื้นที่ป่าประมาณ 55% พบไม้ทั้งหมดจำนวน 33 ชนิดพันธุ์ มีเนื้อที่หน้าเฉลี่ย11.1635 ตารางเมตรต่อแฮกแตร์ มีความหนาแน่นเฉลี่ย 434 ตันต่อเฮกแตร์

   ทรัพยากรสัตว์ป่า
    ความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์ป่า ( Species diversity ) ชนิดสัตว์ป่าที่ปรากฏในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จากการศึกษาสำรวจแจงนับโดยตรง (Direct count method) เพื่อรวบรวมชนิดจากการเก็บตัวอย่างบันทึกภาพ และดำเนินการแจงนับจำนวนสัตว์ป่าแต่ละชนิดซึ่งพบบนเส้นทางแนวการสำรวจและอาศัยการสำรวจแจงนับโดยอ้อม (Indirect count method) เพื่อศึกษาวิเคราะห์จำแนกชนิดจากสภาพร่องรอยที่ปรากฏ เช่น รอยเท้า มูล รัง โพรง เศษซาก และร่องรอยอื่น ๆ ที่สัตว์ป่ากระทำไว้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้อาศัยความรู้ที่รวบรวมได้จากเอกสารรายงานตามที่มีผู้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้จำนวนชนิดของสัตว์ป่าที่ปรากฏ ในปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 294 ชนิด จาก 220 สกุล ใน 102 วงศ์ จำแนกเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 58 ชนิดนกป่า 115 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 36 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 15 ชนิด และปลาน้ำจืด 70 ชนิด รายละเอียดของสัตว์ป่าแต่ละประเภทมี ดังนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวนชนิดพันธุ์ที่พบในอุทยานแห่งชาติไทรโยค มีอยู่ทั้งหมด 58 ชนิด จาก 45 สกุล ใน 28 วงศ์ โดยพบเห็นในการศึกษาครั้งล่าสุดนี้ 27 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 46.06 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดจากจำนวนชนิดปรากฏแม้ว่าจะมีจำนวนชนิดค่อนข้างมากแต่ปริมาณและโอกาสของการพบเห็นมีน้อยเนื่องจาก ปัญหาการบุกรุกของราษฎร และพื้นที่ที่เคยผ่านการสัมปทานไม้มาแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่น่าสนใจและเคยพบในพื้นที่มีอยู่หลายชนิด ได้แก่ เนื้อสมัน (Cerves schomvurghki) และ ละองละมั่ง ( C.eldi ) ตามที่ Guehler. (1933) อ้างคำให้การและหลักฐานจากการถ่ายภาพของคุณหลวงวิสิทธิ์ นายอำเภอกาญจนบุรี ว่ามีผู้ยิงเนื้อสมันเพศผู้ตัวหนึ่งได้จากฝูงละมั่ง ณ บริเวณฝั่งแม่น้ำแควน้อยใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติไทรโยค เมื่อปี พ.ศ.2475 ซึ่งรายงานดังกล่าวถือว่าเป็นรายงานครั้งสุดท้ายที่เกี่ยวกับเนื้อสมันในธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม Stockly (1933) ปฏิเสธที่จะยอม รับหลักฐานภาพถ่ายเขาเนื้อสมันดังกล่าวว่าเป็นเนื้อสมันที่พึ่งถูกล่าจริงนอกจากนี้ยังมีค้างคาวคุณกิตติ (Craseonycteris Tonglongyai) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก มีขนาดความยาวหัวและลำตัว 23-33 มิลลิเมตร ความยาวของรยางค์หน้า (Fore-arm ) 22-26 มิลลิเมตร ไม่มีหาง น้ำหนัก 2 กรัม คุณกิตติ ทองลงยา เป็นผู้พบเห็นและเก็บตัวอย่างได้จากถ้ำค้างคาว และถ้ำพระ เมื่อปี พ.ศ. 2516 หลังจากที่ได้ศึกษาแล้วจึงได้ส่งตัวอย่างค้างคาวจำนวนหนึ่งไปยังแผนกธรรมชาติวิทยา (Natural History ) แห่ง Britrish Museum และคุณกิตติได้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. 2517Mr.John E.Hill ได้ดำเนินการศึกษาลักษณะโครงสร้างของรูปร่างพบว่าลักษณะพิเศษเฉพาะไม่สามารถจำแนกไว้ในวงศ์ของค้างคาวที่มีอยู่แล้วจึงได้ตั้งชื่อค้างคาวกิตติ (Craseonycteris Tonglongyai) เพื่อเป็นเกียรติแก้ผู้ค้นพบค้างคาวกิตติชนิดวงศ์ใหม่นี้ (Hill,1974 ) การค้นพบดังกล่าวนับว่าเป็นการค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ (New Family) ในรอบ 66 ปี นับตั้งแต่การตั้งชื่อวงศ์ต่าง ๆ ของค้างคาวครั้งสุดท้ายโดย Mr.G.S .Miller เมื่อปี พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา ( Lekagul และ Mcneely,1997) จากการสำรวจภายในถ้ำหินปูนต่างๆทั้งในอุทยานแห่งชาติไทรโยค และบริเวณใกล้เคียงรวม 8 ถ้ำ พบว่ามีเพียง 3 ถ้ำ ซึ่งเป็นถ้ำขนาดเล็กและสามารถพบค้างคาวคุณกิตติเกาะพักอาศัยมีจำนวน ตั้งแต่ 10-62 ตัว ลักษณะภายในถ้ำมีช่องคูหาต่างๆ อยู่มาก จุดพบค้างคาวเกาะพักได้แก่บริเวณเพดานถ้ำหรือช่องผนังถ้ำเล็กมักเกาะอยู่ด้วยกันตั้งแต่ 1-3 ตัว ยกเว้นโพรงถ้ำขนาดเล็กแห่งหนึ่งพบเกาะรวมกันมากถึง 52 ตัว ค้างคาวชนิดอื่นที่อาศัยอยู่ในถ้ำเดียวกัน แต่มีตำแหน่งที่เกาะต่างกันประกอบด้วย ค้างคาวหน้ายักษ์เล็ก 2 สี (Hipposideros bicolor ) ค้างคาวมงกุฎ (Rhimolophus spp.) และค้างคาวปีกถุง (Taphozous sp.) เป็นต้น จากการสังเกตพฤติกรรมค้างคาวคุณกิตติ ที่ถ้ำวังพระ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแนวเขตด้านนอก ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค ในช่วงเดือนเมษายน และเดือนกรกฎาคม 2534 พบว่าค้างคาวชนิดนี้เริ่มออกหากินตั้งแต่เวลา 19.10 น.โดยจะบินลำพังเพียงตัวเดียว ต่างจากค้างคาวปีกถุงที่บริเวณแม่น้ำเลาะห์ซึ่งจะออกไปพร้อมกันหลายตัวในระหว่างช่วงเวลา 18.35-19.50 น.แหล่งหากินได้แก่บริเวณป่าผลัดใบและป่าสักใกล้ถ้ำที่อาศัย Duangkhae (1990) รายงานว่าค้างคาวคุณกิตติ ใช้เวลาหากินนาน 18 นาที ในช่วงเช้า และ 30 นาที ในช่วงเย็น เส้นทางหากินมีระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร จากถ้ำ นอกจากนี้ในช่วงอุณหภูมิภายนอกต่ำ หรือมีฝนตกหนักค้างคาวจะไม่ออกหากิน สัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆ ที่พบภายในพื้นที่ได้แก่ ช้างป่า(Elephas maximus) สมเสร็จ(Tapirus indicus) กระทิง(Bos gaurus) และวัวแดง (B.javanicus) ยังพบปรากฏอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะในหุบเขาเราะแระ หุบเขาห้วยบ้องตี้ เรื่อยไปจนจรดแนวเทือกเขาชายแดนบริเวณติดต่อระหว่างทั้ง 2 ประเทศ สภาพพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติไทรโยคมีสภาพเป็นป่าเขาสลับซับซ้อนคล้ายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทางด้านจังหวัดกาญจนบุรีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าผลัดใบ และป่าดิบแล้งมีความเหมาะสมแก่ช้างป่า และกระทิงมากกว่าวัวแดง ซึ่งพบอยู่ทางด้านตอนล่างของอุทยานแห่งชาติไทรโยค และพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแควน้อย การจำแนกประเภทของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบในพื้นที่พิจารณาแยกตามสภาวะที่ได้รับการคุ้มครองตามความใน พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 ปัจจุบันพบสัตว์ป่าสงวนเพียง 1 ชนิด คือ เลียงผา (Capriconis sumatraensis)สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์คุ้มครองประเภทที่ 1 ตามประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ( พ.ศ.2528 ) ออกตามความใน พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 พบทั้งหมด 26 ชนิด (คิดเป็นร้อยละ 45 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ชนิดที่สำคัญที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) ได้แก่ เสื้อลายเมฆ (Cynocephalus Variegatus) ชะนีมือขาว (Hylobates lar) ค่างในสกุล (Prebytis) ทั้ง 3 ชนิด และเสือไฟ (Felis temmincki) เป็นต้น สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 มีปรากฏอยู่รวมกันอยู่ 11 ชนิด (คิดเป็นร้อยละ 19 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบ) ประกอบด้วย กระต่ายป่า (Lepus peguensis) หมีหมา (Helarctos malayanus) หมีควาย(Selenarctos thibetanus) เสือดาวหรือเสือดำ ( Panthera pardus) เสือโคร่ง(P.tigris) กระจงหนู(Tragulus javanicus) อีเก้ง(Muntiacus muntjak )อีเก้งหม้อ (M.feae) กวางป่า (Carvus unicolor) กระทิง(Bos gaurus) และวัวแดง(B.lavanicus)

นกป่า
     จำนวนนกที่พบในอุทยานแห่งชาติไทรโยคเท่าที่สำรวจและรวบรวมรายงานมีจำนวนไม่น้อยกว่า 115 ชนิด จาก 90 สกุล ใน 38 วงศ์ จากจำนวนดังกล่าวเป็นชนิดที่ได้พบเห็นโดยตรงในระหว่างการปฏิบัติงานในพื้นที่รวมได้ 103 ชนิด การสำรวจเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติด้วยตนเอง (วิทยา,2539) จากลักษณะพื้นที่และสภาพสังคมพืชปกคลุมดินซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทางด้านจังหวัดกาญจนบุรี เข้าใจว่าจำนวนที่มีอยู่จริงอาจมากกว่า 250 ชนิดจึงมีความจำเป้นที่จะต้องสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งอาจพบชนิดสำคัญอื่นๆ อีกหลายชนิดสำหรับรายชื่อนกแต่ละชนิดเรียกตามเอกสารของ Lekagul และ Cronin (1974) เป็นหลัก ชนิดนกที่ปรากฏในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยคสามารถจำแนกเป็นสัตว์คุ้มครอง ประเภทที่ 1 จำนวน 104 ชนิด ( คิดเป็นร้อยละ 90 ของชนิดนกที่พบทั้งหมด ) ชนิดนกป่าที่สำคัญได้แก่ ไก่ฟ้าหลังเทา (Lophuura leucomeiana) นกแว่นสีขาว (Polyplectron bicalcartum) นกยูงไทย (Pavo mutrcis) เมื่อปี 2533 ยังมีผู้พบเห็นนกยูงในป่าผสมผลัดใบริมฝั่งแม่น้ำเลาะห์สาขาของแม่น้ำน้อย นกเงือกกรามช้าง (Rhytieros undulates) นกแก๊ก (Mulleripicus pulverlenttus ) เป็นต้น สำหรับนกที่จัดเป็นสัตว์คุ้มครองประเภทที่ 2 มีจำนวนเพียง 4 ชนิด ( คิดเป็นร้อยละ 4 ของชนิดนกที่พบทั้งหมด ) ประกอบด้วย นกกระทาดงแข้งเขียว(Arboropsila charltonii) ไก่ป่า (Gallus gallus) นกเขาเปล้าธรรมดา(Treeon curvirosta) และนกมูม (Dacula badia) นอกจากนี้ยังพบนกอีก 7 ชนิด (คิดเป็นร้อยละ 6) ของนกที่พบทั้งหมดที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย)

นกป่าอุทยานแห่งชาติไทรโยค
   การเดินทาง
เรือ
จากอำเภอเมืองกาญจนบุรี ลงเรือที่ท่าเรือ จะมีเรือหางให้เช่าเหมาลำ เดินทางไปตามลำน้ำแควน้อย จนถึงน้ำตกไทรโยค หรือจากสถานีรถไฟสามารถต่อเรือที่ท่าเรือปากแซง บ้านท่าเสา อำเภอไทรโยค ต่อไปยังน้ำตกไทรโยคได้อีกทางหนึ่ง

รถยนต์
ใช้ทางหลวงสายกรุงเทพ ฯ - กาญจนบุรี จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 323 สายกาญจนบุรี – ทองผาภูมิ ระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร ทางเข้าอุทยานฯอยู่ทางซ้าย หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นรถที่สถานีขนส่งสายใต้ลงที่สถานีขนส่งกาญจนบุรีต่อรถประจำทางสายกาญจนบุรี – ทองผาภูมิ

รถไฟ
จากสถานีบางกอกน้อย ( ธนบุรี ) มาลงที่สถานีน้ำตกไทรโยคน้อย ระยะทางประมาณ 195 กิโลเมตร ( ใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ) ต่อรถประจำทางกาญจนบุรี-ทองผาภูมิ อีกประมาณ 33 กิโลเมตร ติดต่อสถานีรถไฟบางกอกน้อย โทร.02-4113102

สำรองที่พัก
อุทยานแห่งชาติไทรโยค มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ โดยสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติไทรโยค โทร.034-686024 หรือสำนักอุทยานแห่งชาติ

ที่ตั้งและแผนที่
ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติไทรโยค มีที่ทำการตั้งอยู่ในท้องที่ หมู่ที่ 7 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
โทรศัพท์ : 034-686-024, 089-0281958
อีเมล: saiyok_np23@hotmail.com
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายพนัชกร โพธิบัณฑิต
ตำแหน่ง : นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ

อัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติ
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 300 บาท เด็ก 200 บาท
หมายเหตุ เมื่อชำระค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติแล้วกรุณาพกบัตรค่าบริการติดตัว ขณะท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติเพื่อการตรวจสอบ

ร้านค้าสวัสดิการ (กาแฟ น้ำดื่ม ขนม) เปิดให้บริการทุกวันเวลา 07.00 น -19.00 น.


ทีมงานสต๊าฟ ว้าว ทูเกเตอร์ ทราเวล
CSR + WALK Rally (K214)

Visitors: 110,399