ชุมชนบ้านหนองสาหร่าย
ชุมชนตำบลหนองสาหร่าย
ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ. กาญจนบุรี
โทร 089 083 1060 คุณปลา

ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนเกษตรกรรมอย่าง “ชุมชนตำบลหนองสาหร่าย” อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่ครั้งนึงเคยถูกครอบงำจากความเชื่อและค่านิยมที่ผิดๆ จนทำให้เกษตรกรในชุมชนดังกล่าวประสบความล้มเหลวในการทำเกษตรกรรม รอยยิ้มและความสุขในการใช้ชีวิตของคนในชุมชนเลือนหายไป ภาพความหลังของชุมชนตำบลหนองสาหร่ายที่เคยเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข การอยู่ร่วมกันแบบญาติสนิทมิตรสหาย มีชีวิตที่เรียบง่าย มีอะไรก็ช่วยเหลือพึ่งพากัน ภาพแห่งความทรงจำเหล่านี้เริ่มเลือนหายไป เริ่มตั้งแต่ความเจริญพุ่งเข้ามาในรูปของคลองชลประทานเพื่อการเกษตร และภาครัฐหันมาใช้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เงินทองหรือผลประโยชน์ที่หามาได้เป็นตัวตัดสินความมีจนของคนในชุมชน เรือกสวนไร่นาที่เคยทำเพียงแค่ปีละหนึ่งครั้งก็อยู่พออยู่พอกิน ถูกเร่งรอบเพื่อเพิ่มผลผลิตหวังแต่ให้ได้ผลกำไรมากๆ เพื่อนบ้านที่เคยลงแขกช่วยเหลือกันก็กลายเป็นการว่าจ้างเครื่องจักรมาหว่านไถ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารเร่งโต กลายเป็นของจำเป็นสำหรับเกษตรกร ความช่วยเหลือแบ่งปันที่เคยมีเปลี่ยนเป็นการแข่งขันอวดวัดฐานะกันด้วยทรัพย์สินเงินทอง ทำให้ผู้คนในชุมชนตำบลหนองสาหร่ายถูกครอบงำด้วยความคิดที่ว่าต้องเร่งหาเงินให้มากพอ เพื่อก้าวพ้นเส้นคำว่า “ยากจน” ไปโดยปริยาย
เมื่อเงินที่ได้จากการขายผลผลิตทางเกษตร ต้องถูกหักไปกับค่าใช้จ่ายของเครื่องจักร ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารเร่งโต ทำให้เหลือกำไรเพียงน้อยนิด บางรายถึงขนาดขาดทุนเข้าเนื้อ และไปกู้เงินมาลงทุนใหม่ วนไปวนมาแบบนี้อยู่หลายสิบปี ที่สุดก็กลายเป็นว่ามีแต่หนี้สินที่พอกพูนเพิ่มจำนวนมากขึ้น มาพร้อมกับความเสื่อมโทรมของดินและน้ำ รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่ เป็นผลมาจากการเร่งผลผลิตและการใช้สารเคมีมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้คนในชุมชนตำบลหนองสาหร่ายต้องเป็นหนี้เป็นสิน รวมกันมากกว่า 100 ล้านบาท ทำให้หลายคนละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เลือกที่จะเข้าไปแสวงโชคในเมืองหลวง เพียงเพราะเชื่อว่าการได้เข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในเมือง จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่และช่วยให้ประสบความสำเร็จในการหาเงินเพื่อไปปลดหนี้ที่เกิดขึ้น แต่ทว่า…ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้สวยหรูอย่างที่ได้คิดเอาไว้ หลายต่อหลายคนต่างประสบความล้มเหลวในการเข้าไปเสี่ยงโชคในเมืองหลวง และเลือกที่จะเดินทางกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดและทำเหมือนอย่างเดิมๆ ซ้ำไป ซ้ำมา วนไปไม่รู้จักจบสิ้น
นายศิวโรฒ จิตนิยม ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสาหร่าย
หาก แต่ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อนายศิวโรฒ จิตนิยม ปราชญ์ชาวบ้านชุมชนตำบลหนองสาหร่าย ได้ลุกขึ้นสู้และริเริ่มแนวคิดที่อยากจะทำให้ผู้คนในชุมชนให้หลุดพ้นจากวังวนแห่งหนี้สินและความทุกข์ โดยได้น้อมนำปลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นแนวทางและทิศทางในการดำเนินชีวิตเพื่อการหลุดพ้นหนี้สินต่างๆ ในชุมชน จวบจนเวลาล่วงเลย 2 ปีผ่านไป ชาวชุมชนตำบลหนองสาหร่าย พร้อมใจกันหันหลังให้แก่ระบบทุนนิยม เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและทัศนคติ กลับมารักใคร่สามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รวมกลุ่มกันแก้ปัญหาและค้นหา “หนทางแห่งความสุข” และคำตอบที่เค้าเหล่านั้นได้รับก็คือ “คุณธรรม ความดี และการปลดหนี้สิน”
“ใช้เงินเป็นเครื่องมือสร้างความดี ใช้ความดีเป็นเครดิต” หลักเกณฑ์ 23 ความดี 67 ตัวชี้วัด ที่ชาวชุมชนตำบลหนองสาหร่ายได้ร่วมมือกันกำหนดขึ้น มิได้เป็นเพียงแค่ “ธรรมนูญความสุข” ของชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ “ความดี” เข้ามาแก้ไข “ปัญหาความยากจน” และ “ปัญหาหนี้สิน” ผ่านสถาบันการเงินรูปแบบเฉพาะตัวจากกองทุนสวัสดิการที่เรียกว่า “ธนาคารความดี” ซึ่งเป็นธนาคารที่ “กู้เงิน” ได้โดยใช้ “ความดี” เป็นเครดิตค้ำประกัน ถือได้ว่า ต้นแบบการน้อมนำเอาคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับระบบการเงินของชุมชน เพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืนแก่คนในท้องถิ่น ซึ่งถือกำเนิดได้จากปัญหาหนี้นอกระบบและหนี้สินต่างๆ ที่ทำให้คนในชุมชนไม่มีความสุข
ด้วยแนวคิดที่เรียบง่าย แต่ทำได้จริง สามารถแก้ปัญหาหนี้สินและหนี้นอกระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ “ความดีต้องกินได้ ขอเพียงแค่มีความดี ก็สามารถกู้เงินได้ เพราะถ้าได้ชื่อว่าคนดี ยังไงเขาก็ไม่โกง” ชุมชน ได้สรุป “ธรรมนูญความดี” อันเป็นที่มาของความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งคนในชุมชนนำไปปฏิบัติ ทำความดี สะสมความดี และนำมาฝากเข้าธนาคารความดี ตัวอย่าง หลักเกณฑ์ 23 ข้อและ 67 ตัวชี้วัด มาพร้อมแนวทางซึ่งทุก 3,622 สมาชิกชุมชน เห็นชอบร่วมกันคือ
– การออมเงินอย่างน้อยคนละ 3 บาทต่อวัน เพื่อให้หมดหนี้ภายใน 20 ปี
– กำไรของสถาบันฯ จะถูกจัดเป็นสวัสดิการของคนทั้งตำบล
– อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ร้อยละ 0.85 บาทต่อปี ฝากประจำดอกเบี้ยร้อยละ 4.10 บาทต่อปี
– อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 9 บาทต่อปี
– การกู้เงิน มีความดี 11 ข้อ กู้เงินได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน / มีความดี 15 ข้อ กู้เงิน 10,000 บาท ได้โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
/ มีความดี 18 ข้อ กู้เงิน 15,000 บาทได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และ มีความดี 23 ข้อ กู้เงินได้ 20,000 บาทโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
หลักเกณฑ์การกู้เงิน คือเป็นสมาชิกสถาบันฯ ครบ 1 ปี
– เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน
– ออมเงินไม่น้อยกว่าเดือนละ 200 บาท
– จดบันทึกรายรับรายจ่ายครัวเรือน
– ปลูกผักสวนครัวไว้กินอย่างน้อย 7 ชนิด
– ปฏิบัติตามแผนการแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สินของตำบล
– ผ่านเกณฑ์ความดี/คนดี ของชุมชนที่กำหนด
– ผ่านการรับรองจากประชาคมหมู่บ้านและสภาผู้นำชุมชนตำบลหนองสาหร่าย
– ตามลำดับ ก่อน-หลัง
** ทั้งนี้เงินหมุนเวียนในสถาบันฯ แหล่งที่มาของเงิน คือ เงินออมของคนในชุมชน, เงินกู้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนตำบล และเงินกู้จากธกส.
นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 ที่ ธนาคารความดีและสถาบันการเงินชุมชนหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ได้ก่อตั้งขึ้น ผลที่ได้รับกลับมาไม่เพียงแต่ปัญหาหนี้สินในชุมชนหมดไปเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้ชุมชนกลับมาเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เกิดสำนึกรักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิด มีความสุข มีรายได้เพียงพอ และสิ่งแวดล้อมที่ดี ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ก็เริ่มกลับคืนมา ทั้งหมดเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า การพัฒนาด้วย “ตัวชี้วัดความดี” นี้ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดในอุดมคติ หากแต่เป็นวิธีที่ใครๆ ก็สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง เมื่อชุมชนตำบลหนองสาหร่ายทำได้ ที่อื่นก็ย่อมทำได้ และถ้าทุกคนร่วมกันทำความดีแบบนี้ แผ่นดินที่เราอยู่ พระเจ้าอยู่หัวที่เรารัก และคนไทย 70 กว่าล้านคนจะมีความสุขไปพร้อมๆ กัน
ขอบคุณข้อมูลจาก :1. Facebook : ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนองทราย ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
2. เว็บไซต์ไทยตำบลดอทคอม (http://www.thaitambon.com/tambon/910201)
3. มูลนิธิมั่นพัฒนา (http://www.tsdf.or.th/th/partner-project/10765-โครงการสานต่อที่พ่อทำ/670-ศิวโรฒ-จิตนิยม)