มะละเเหม่ง

เมืองมะละเเหม่ง
คนพม่าเรียกว่าเมือง ‘เมาะลัมไย’ (Mawlamyine) คนไทยสมัยก่อนเรียกว่า ‘เมาะลำเลิง’ ส่วนคนมอญเรียกเมืองนี้ว่า ‘โมปลอง’ หรือ ‘โหมดแมะเหลิม’ ซึ่งแปลว่า ‘ตาพ่อเสีย’ ตรงข้ามกับเมือง ‘เมาะตะมะ’ ซึ่งแปลว่า ‘ตาสว่าง’ ตามตำนานกล่าวว่าพระเจ้าสามตาที่ภายหลังถูกขุนศึกและเมียรักทรยศหักหลังทำให้ตาที่สามบอด มนต์วิเศษเสื่อม จึงถูกพม่ารุกรานเสียบ้านเสียเมือง ได้สาปแช่งไม่ให้มอญรวมตัวกันสำเร็จ มะละแหม่งตั้งอยู่ตรงปากแม่น้ำที่บรรจบกันของแม่น้ำใหญ่ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำสาละวิน (Thanlwin) ซึ่งไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่อ่าวเมาะตะมะ แม่น้ำไจ (Kyaik) และแม่น้ำอัตตรัน (Attran) มะละแหม่งอยู่ห่างจากย่างกุ้ง 300 กม. อยู่ห่างจากเมืองทวาย 270 กม. ห่างจากชายแดนแม่สอดประมาณ 170 กม.และห่างจากด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อนประมาณ 400 กม. มีประชากรราว 400,000 คน มะละแหม่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของพม่า (รองจากเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองหลวงใหม่เนปิดอว์) 

เมาะละแหม่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญและเป็นประตูสู่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในพม่าตอนใต้และเป็นศูนย์กลางนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยผ่านทางด่านแม่สอด – เมียวดี และเคยเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม นอกจากนั้นยังเป็นเมืองปลายทางสุดท้ายของเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) หรือ ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก ที่เริ่มจากประเทศเวียดนามและมีความยาวประมาณ 1,450 กิโลเมตร มาสิ้นสุดลงที่เมือง “มะละแหม่ง” 

เมืองมะละแหม่งนั้นแวดล้อมไปด้วยสถานที่ทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น ทางด้านทิศเหนือก็ติดเมืองสะเทิมใกล้กับอ่าวเมาะตะมะหรือที่อังกฤษเรียกตามพม่าว่าเมือง Thaton (ออกเสียงว่า 'ตะโถ่ง' ไม่ใช่ 'ท่าตอน') ซึ่งเป็นเมืองที่ทั้งไทยและพม่าทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างก็ถือกันว่าที่นี่คือดินแดนทางพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดที่เรียกกันว่า ‘สุวรรณภูมิ’ ส่วนทางใต้นั้นก็ติดเมือง ตันบูซายัด (Thanbyuzayat) ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีปลายทางของเส้นทางรถไฟสายมรณะที่เชื่อมต่อจากไทย ถูกสร้างขึ้นจากแรงงานของกรรมกรและเชลยศึกที่ควบคุมโดยกองทัพญี่ปุ่นระหว่างปี พ.ศ. 2485 - 2486 เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งกำลังพลจากไทยไปยังพม่า และถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายลงในปี พ.ศ. 2488 เชลยศึกกว่า 13,000 คน ที่ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟความยาว 424 กม. ตลอดระยะเวลา 14 เดือน ต้องเสียชีวิตเพราะทารุณกรรม ขาดอาหาร และโรคภัยไข้เจ็บ คาดว่ายังมีพลเรือนชาวเอเชียที่ถูกบังคับใช้แรงงานอีกราว 80,000 – 100,000 คน เสียชีวิตลงในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ และไม่ไกลจากเมืองเมาะละแหม่งลงมาทางใต้ที่เมือง
มูเดิง (Mudong)
 ก็เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในพม่า เรียกได้ว่าเมืองมะละแหม่งนั้นมีเรื่องราวทางประวัติศาสน์และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างมากมาย

การเดินทางไปมะละเเหม่ง
เข้าทางด่านแม่สอด
มะละแหม่งอยู่ห่างจากด่านแม่สอด 170 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง ถนนเส้นใหม่ที่ตัดหลบภูเขาตะนะ (Dawna Range) หรือเรียกกันว่า ‘ทิวเขาดอยมอนกุจู’ ที่มีความยาวประมาณ 45 กิโลเมตรซึ่งเชื่อมต่อไปยังเมืองกอกะเร็ก (Kawkareik) เปิดให้บริการแล้วและเป็นถนนลาดยางอย่างดี ไม่ต้องวิ่งสลับวันคู่วันคี่หรือที่เรียกกันว่า ‘ถนนวันละเวย์’ เหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป 

เข้าทางด่านพุน้ำร้อน 
มะละแหม่งอยู่ห่างจากด่านพุน้ำร้อนประมาณ 400 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองทวายประมาณ 270 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากเมืองทวายไปมะละแหม่งประมาณ 7 ชั่วโมง เรียกว่า ‘ถนนสาย 8’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถนนเอเชีย AH112 ถนนช่วงนี้ลาดยางตลอดเส้น แต่ถนนจากด่านพุน้ำร้อนไปถึงกิ่งอำเภอเมตตา (Myitta Sub-Township) ของเมืองทวายจะเป็นถนนลูกรัง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตรและใช้เวลาเดินทางจากด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อนไปทวายประมาณ 4-5 ชั่วโมง (2561)

จากย่างกุ้ง – มะละแหม่ง 
มะละแหม่งอยู่ห่างจากย่างกุ้ง 300 กิโลเมตร ถนนจากย่างกุ้งมาที่เมืองมะละแหม่งเป็นถนนไฮเวย์อย่างดี และใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมีรถไฟวิ่งจากย่างกุ้งมาที่เมืองมะละแหม่งด้วยเช่นกัน ซึ่งมี 3 เที่ยวต่อวัน เที่ยวแรกออกจากย่างกุ้งเวลา 07:15 น. เที่ยวที่สองออกเวลา 18:25 น. และเที่ยวกลางคืนออกจากย่างกุ้งเวลา 21:00 น. รถไฟใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-9 ชั่วโมง (2561)
ทางเครื่องบิน 
สนามบินที่เมืองมะละแหม่งเป็นสนามบินขนาดเล็กและมีเที่ยวบินของ Myanmar Airways International (MAI) มาลงสัปดาห์ละ 2 เที่ยว แต่ยังไม่มีสายการบินระหว่างประเทศมาลง (2561) ซึ่งก่อนหน้านี้มีสายการบินนกแอร์เคยเปิดให้บริการเส้นทางแม่สอด – มะละแหม่ง แต่ได้ยกเลิกไปแล้ว

Visitors: 110,290