พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า กาญจนบุรี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า

     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อเก็บรวบรวม รักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าและแหล่งโบราณคดีอื่นๆในจังหวัดกาญจนบุรี

     บ้านเก่าไม่เพียงเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ค้นพบร่องรอยมนุษย์ยุคหิน ซึ่งนำมาสู่จุดเริ่มต้นงานโบราณคดีสากลของประเทศไทยยังเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของไทยที่สร้างขึ้นบริเวณแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้บริการมานานกว่า ๕๐ ปีแล้ว มีการรวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ค้นพบในพื้นที่บ้านเก่าและ จ.กาญจนบุรี โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่จัดแสดงอายุมากกว่า ๓,๑๐๐ -๕,๐๐๐ ปี 
     จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า สืบเนื่องจากการที่ ดร.เอช.อาร์.ฟาน เฮเกอเรน นักโบราณคดีชาวฮอลันดาที่ทำงานอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถูกกองกำลังทหารญี่ปุ่นจับเป็นเชลยสงคราม และถูกเกณฑ์ให้มาสร้างทางรถไฟสายมรณะในสงครามโลกครั้งที่ ๒  ในปี พ.ศ.๒๔๘๖-๒๔๘๗ ระหว่างนั้น ดร.เฮเกอเรน ได้พบเครื่องมือหินกะเทาะและขวานหินขัด ขณะทำงานอยู่บริเวณตำบลบ้านเก่า เมื่อสงครามสงบยุติ ได้นำเครื่องมือหินที่พบกลับไปศึกษาวิเคราะห์ที่สหรัฐอเมริกา นำไปสู่การสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีโดยนักโบราณคดีไทยและต่างประเทศในพื้นที่บ้านเก่าเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙
     หลังจากนั้นระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๕ คณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์โครงการความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่าง "ไทย-เดนมาร์ก" ได้ทำการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า บริเวณที่ดินของนายลือ-นายบาง เหลืองแดง ริมแม่น้ำแควน้อย พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก ต่อมากรมศิลปากร จึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ขึ้นบริเวณแหล่งขุดค้น
     แหล่งเรียนรู้สำคัญของเมืองกาญจนบุรี แห่งนี้ กรมศิลปากรดำเนินการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ และมีการปรับปรุงทั้งหมดแล้วเสร็จ จึงเปิดให้เข้าชมได้ในปี พ.ศ.๒๕๖๕ เนื้อหาการจัดแสดงน่าสนใจ เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เฉพาะคอประวัติศาสตร์โบราณคดี อาคารหลังใหม่ที่แสดงนิทรรศการถาวร ออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม สีดินเทศ สวยงาม ซึ่งรูปทรงของอาคารได้แรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ภูมิทัศน์รอบอาคารออกแบบให้เชื่อมโยงกับเรื่องการเลือกตั้งถิ่นฐานของผู้คนในอดีต และยังเชื่อมโยงไปยังหลุมขุดค้นทางโบราณคดี รวมถึงศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมบ้านเก่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า
     พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งเป้าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีศักยภาพระดับสากล แนวคิด “โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แห่งภูมิภาคตะวันตกของไทย” เดินเที่ยวในอาคารจัดแสดงหลังใหม่เหมือนได้ร่วมทีมกับนักสำรวจ

นิทรรศการชั้นที่ ๑ นำเสนอผ่านเครื่องมือหิน(จำลอง) ที่ ดร.เอช.อาร์.ฟาน เฮเกอเรน นักโบราณคดีชาวเนเธอร์แลนดพบขณะเป็นเชลยศึกถูกคุมตัวมาสร้างทางรถไฟสายมรณะใกล้สถานีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นจุดเริ่มต้นศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเก่า หนังสือพิมพ์ที่ลอนดอนเสนอข่าว ได้รับความสนใจทั่วโลก นำมาสู่การขุดค้นและจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บ้านเก่าในเวลาต่อมา สำหรับเครื่องมือหินของจริงทั้ง ๘ ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาที่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติพีบอดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างประสานงานโดยกรมศิลปากร เพื่อนำกลับประเทศไทย
 เครื่องมือหินกะเทาะ(จำลอง) ที่ดร.เฮเกอเรน พบข้างทางรถไฟ                                       เครื่องมือหินกะเทาะ(จำลอง) ที่ดร.เฮเกอเรน พบข้างทางรถไฟ
                                     
     จากนั้นเข้าสู่ห้องฉายวีดิทัศน์ จำลองการค้นพบเครื่องมือหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเก่า ทางเดินพาย้อนสู่อดีตผ่านถ้ำจำลองให้ข้อมูลคนอยู่ถ้ำและคนใช้ถ้ำในยุคก่อนประวัติศาสตร์แต่ละสมัย ตั้งแต่การล่าสัตว์ การทำเกษตรกรรม ทำเครื่องมือหินกะเทาะ ในแบบภาพเคลื่อนไหวที่น่าตื่นตา ก่อนจะมาพบกับเครื่องมือหินพบจากลุ่มน้ำแควน้อย แควใหญ่ เครื่องมือหินโบราณเหล่านี้ช่วยอธิบายพฤติกรรมมนุษย์อย่างกระจ่าง
ถ้ำจำลองเสนอชีวิตคนยุคก่อนประวัติศาสตร์                                          ถ้ำจำลองเสนอชีวิตของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์

นิทรรศการชั้นที่ ๒ ได้มีการนำเสนอความหมายของวัฒนธรรมบ้านเก่า ”  คำจำกัดความของวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ในภาคตะวันตกของไทย คนตั้งถิ่นฐานตามที่ราบหรือเชิงเขาใกล้ล้ำน้ำ มีวิถีชีวิต ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ รู้จักทำเครื่องมือหินกะเทาะ หินขัด เครื่องมือกระดูกสัตว์ เพราะยังไม่มีโลหะหรือเหล็ก แล้วยังมีหุ่นจำลองวิถีชีวิตคนสมัยหินใหม่อีก ๑๒ ชุด โบราณวัตถุที่โดดเด่นยังมีหม้อสามขาภาชนะรูปแบบเฉพาะของวัฒนธรรมบ้านเก่าอีกด้วย
หม้อสามขา เอกลักษณ์วัฒนธรรมบ้านเก่า                                            หม้อสามขา เอกลักษณ์วัฒนธรรมบ้านเก่า       

     เดินมาอีกห้องทุกท่านจะได้เห็นโครงการกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ๒ โครงกระดูก โครงกระดูกแรกเป็น ๑ ใน ๓๘ โครงกระดูกที่พบจากโครงการสำรวจขุดค้นไทย-เดนมาร์ก พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๕ ปรากฏร่องรอยเจ็บป่วยโรคลูคีเมีย หรือมะเร็งในไขกระดูก และได้รับรู้การทำฟันของคนบ้านเก่า มีการดัดแปลงและตกแต่งฟัน ขัดฟัน หลายแบบ โซนนี้ยังจอไขปริศนาจากโครงกระดูก ผ่านระบบ Icon Interactive ที่ทันสมัย  สันนิษฐานหน้าตาและรูปร่างของคนบ้านเก่าโบราณ 
จอไขปริศนาจากโครงกระดูกด้วยระบบอินเตอร์แอคทีฟที่ทันสมัย                                จอไขปริศนาจากโครงกระดูกด้วยระบบอินเตอร์แอคทีฟที่ทันสมัย

นิทรรศการชั้นที่ ๓ จัดแสดงเรื่องราวของผู้คนในช่วงที่มีการใช้เครื่องมือโลหะ ทั้งสำริดและเหล็กในภาคตะวันตก โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือ เครื่องประดับและภาชนะสำริดจากแหล่งโบราณคดีในอำเภอต่างๆ ของกาญจนบุรี  ชั้นสุดท้ายยังมีศิลปะถ้ำ เป็นงานศิลปกรรมภาพเขียนสีบนผนังของผู้คนในยุคนั้น เช่น ภาพเขียนสีถ้ำตาด้วง เขาวังกุลา ถ้ำรูปเขาเขียว ถ้ำมือแดง  ถัดมาเป็นเรื่องราววัฒนธรรมโลงไม้ ที่มีลักษณะคล้ายเรือ หัวท้ายสลักเป็นรูปคนหรือสัตว์  พบที่ราบสูงตามเทือกเขาทางทิศตะวันตก เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นพิธีกรรมการฝังศพอีกแบบหนึ่งของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ 
วัฒนธรรมโลงศพไม้                                                        วัฒนธรรมโลงศพไม้

อัตราค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า
 ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท
หมายเหตุ :
- อายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เข้าชมฟรี
- อายุสูงกว่า ๖๐ ปี เข้าชมฟรี
- ผู้พิการ เข้าชมฟรี

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
เลขที่ ๑๖๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ๗๑๐๐๐
โทรศัพท์ : ๐๓๔-๕๔๐ ๖๗๑-๒ / ๐๘๑-๒๙๔ ๙๙๔๔
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/bankaomuseum
อีเมล : ban.kaomuseum@hotmail.com

วันและเวลาทำการ
วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น.

บริหารจัดการ
- กรมศิลปากร

ประเภทพิพิธภัณฑ์
- ชีวประวัติ, ประวัติศาสตร์ และ โบราณคดี

วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ / สิ่งที่น่าสนใจ
- โคลงกระดูกมนุษย์โบราณ ขวานหิน เครื่องประดับและเครื่องปั้นเดินเผา ที่ได้มากจากการขุดค้นทางโบราณคดี

การเดินทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า อยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ ๓๕ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๓๒๓ จากนั้นเลี้ยวซ้ายทางหลวงหมายเลข ๓๒๒๙ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๔๕๕ ไปประมาณ ๓ กิโลเมตร เลี้ยวเข้าทางวัดท่าโป๊ะประมาณ ๑ กิโลเมตร

สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ

 


กาญจนบุรี 3 วัน 2 คืน (K301)
ทีมงานสต๊าฟ ว้าว ทูเกเตอร์ ทราเวล
Visitors: 110,530