บ้านหนองขาว

สังคมชุมชนหนองขาว

พัฒนาการทางด้านสังคมของชุมชนหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2500-2540


บ้านหนองขาว
เรื่องราวของบ้านหนองขาวและวัฒนธรรม

ที่นี่คือ หมู่บ้านหนองหญ้าขาว ชื่อดั้งเดิมที่มีที่มาจากเมื่อก่อนบริเวณหมู่บ้านมีดอกหญ้าขาวขึ้นตามริมหนองน้ำเป็นจำนวนมาก เรียกไปเรียกมาจนปัจจุบันกลายเป็น ‘หมู่บ้านหนองขาว’ อยู่ในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี หมู่บ้านนี้มีเรื่องราวและวัฒนธรรมที่รักษาไว้เป็นอย่างดี


การเดินทางเข้าหมู่บ้านหนองขาวโดยรถอีแต๋นนั้นเป็นเสน่ห์ที่ดูเข้ากันได้ดีกับ ทุ่งนา ต้นตาลโตนด และบ้านเรือนแบบไทยๆ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หมู่บ้านใหญ่ไก่บินไม่ตก เพราะหลังคาแต่ละบ้านนั้นติดกันไก่บินขึ้นไปแล้วหาทางลงไม่ได้ แถมรั้วกั้นอันใดก็ไม่มี สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีใกล้ชิดกันอย่างไม่มีการแบ่งแยกใดๆ


สำหรับสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ นอกจากหลวงพ่อพระป่าเลไลยก์ ในวิหารหลวงพ่อพระปางป่าเลไลยก์ วัดอินทาราม (วัดหนองขาว) ที่ชาวหมู่บ้านหนองขาวให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ซึ่งที่ประจักษ์ของชาวบ้านถึงความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่พึ่งทางใจมาแต่โบราณแล้ว ยังมี ศาลพ่อแม่ ที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ซึ่งเป็นศาลเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก


เชื่อกันว่าหากมีการจัดกิจกรรมประเพณีใดจะต้องมาจุดธูปบอกกล่าว เพื่อให้ลุล่วงไปด้วยดี ถ้าบ้านไหนจัดงานแล้วไม่มีการบอกกล่าวก็จะเกิดเหตุขัดข้อง น้ำไม่ไหล ไฟดับ หรือแม้กระทั่งฝนตกห่าใหญ่ถึงกับงานล่มกันเลยทีเดียว” 

บ้านหนองขาว
ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างแปลก เกี่ยวกับชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ เนื่องจากสมัยก่อนคนหนองขาวเชื่อว่าเด็กที่เกิดมาจะเลี้ยงง่าย ไม่เจ็บไม่ป่วย ส่วนหนึ่งมาจากชื่อ ถ้าหากชื่อน่าเกลียดๆ ผีจะไม่มาเอาตัวไป เขาจึงมักตั้งชื่อที่นำหน้าด้วยหมาอย่าง หมากบ หมาหลีก หมาเอื้อน หรือขี้ อย่างขี้หมู ขี้แมว ขี้หมา ขี้เหล่ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีหลงเหลืออยู่บ้าง ครั้งนี้เราได้พบกับ คุณป้าหมากบ จำปาทอง คนที่มาสาธิตการทำพิธีขวัญข้าวด้วย


ก่อนจะเริ่มพิธี มีเรื่องราวความเชื่อของคนสมัยโบราณว่า “พอถึงปี ทุกบ้านจะต้องทำขวัญข้าว นาใคร ใครทำ ต่างคนต่างทำในที่นาของตัวเอง ทำหลังจากออกพรรษา คนโบราณกล่าวไว้ว่า สมัยก่อนแม่โพสพมีตัวตน ผู้หญิงผู้ชายก็ทำได้ขวัญข้าวน่ะ เคยมีผู้ชายทำขวัญข้าว แม่โพสพปรากฏกาย ก็เป็นหญิงที่สวยงามมากออกมาให้เห็น ผู้ชายนึกในใจว่าหญิงคนนั้นมาอย่างไร ไม่รู้จัก คิดรักใคร่ จะไปปลุกปล้ำเขา แม่โพสพโกรธมากก็เลยหนีหายไป จะหายไปเลยจากโลกนี้ ไม่ให้มีข้าว ทีนี้บุญคุณของเจ้าปลาช่อนที่ไปมัดเอาชายคนนั้นไว้ จากนั้นแม่โพสพจึงขอร้องไว้ไม่ให้ผู้ชายทำขวัญข้าว


การกล่าวบททำขวัญข้าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีทำขวัญข้าวที่มีเสน่ห์ ด้วยวิธีการแหล่นั้นไพเราะเสนาะหูมากๆ หาฟังได้ยาก เนื่องจากในปัจจุบันด้วยความเร่งรีบในการทำนา ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันออกสู่ตลาดทำให้พิธีทำขวัญข้าวเริ่มเลือนหายไปจากหลายๆ พื้นที่ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชมหนองขาวแห่งนี้ยังคงรักษาไว้ซึ่งพิธีกรรม และสืบทอดให้กับเด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป

บ้านหนองขาว

เด็กรุ่นใหม่ที่ว่านี้ ได้แก่น้องๆ จากโรงเรียนหนองขาวโกวิทพิทยาคม ซึ่งได้มาแสดงการรำเหย่ยให้ได้ชมกัน ‘เหย่ย’เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลางที่นิยมร้องและเล่นกันมาแต่โบราณ ในเวลาที่เหนื่อยจากการเกี่ยวข้าวหนุ่มสาวก็จะมารำเหย่ยกัน ที่เรียกว่าเหย่ย เป็นเพราะว่าคำร้องทุกวรรคลงท้ายด้วยเสียงเดียวกันหมด คือ เหย่ย ซึ่งเป็นเสียงที่เพี้ยนมาจากคำว่า เอย


ส่วนการขับร้อง ฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มร้องชวนให้ฝ่ายหญิงมาเล่นเพลงเหย่ยกัน ฝ่ายหญิงก็จะรับคำชวนก็จะมายืนล้อม เป็นวงกับฝ่ายชาย แม่เพลงจะร้องโต้ตอบพ่อเพลงโดยมีลูกคู่รับทั้งสองฝ่าย เนื้อร้องส่วนใหญ่จะเป็นทำนองหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีกัน นอกเหนือจากความสนุกสนานที่ส่งผ่านการร้องรำจากน้องๆ เราสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกนั้นจริงๆ ด้วยสีหน้าท่าทางที่ส่งออกมาสู่การแสดง รวมถึงได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการละเล่นนี้ เพราะน้องๆ จะร้องชวนผู้ชมให้มาสู่วงรำด้วย

บ้านหนองขาว
นี่เป็นเพียงมุมหนึ่งของหมู่บ้านหนองขาว ยังมีมุมอื่นๆ อีกมากมายให้เราได้เข้าไปสัมผัสถึงประเพณี พิธีกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่แวดล้อมด้วยไร่นาและดงตาล ซึ่งต้องบอกก่อนเลยว่า คนหมู่บ้านหนองขาวมีอาชีพการทำนาเป็นหลัก อาชีพเสริมคือการทอผ้าขาวม้า หรือเรียกว่า ผ้าขาวม้าร้อยสี ผ้าขาวม้าที่นี่มีชื่อเสียงด้วยความที่เป็นแหล่งผลิตผ้าทอกี่กระตุกคุณภาพสูง ไปบ้านไหนก็จะเห็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าขาวม้าร้อยสี เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของคนในหมู่บ้านที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันนั่นก็ด้วย นับได้ว่าเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งทางด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ด้วยการยึดมั่นในจารีตประเพณี วัฒนธรรมไทย ความเอื้ออาทรของชุมชน การแต่งกายด้วยผ้าทอประจำถิ่น และภูมิปัญญาไทยที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านหนองขาวที่ชัดเจนเสมอมา

ทัวร์กาญจนบุรี 3 วัน 2 คืน (K302)ทัวร์กาญจนบุรี สายมู 3 วัน 2 คืน K307

กิจกรรมการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสนั้นมีมากมาย เริ่มตั้งแต่ ขึ้นรถอีแต๋นพร้อมมีมัคคุเทศก์น้อยคอยบรรยายเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นมาของคนในหมู่บ้าน ชมบรรยากาศของทุ่งข้าวที่ล้อมรอบด้วยต้นตาลโตนดสวยงามสบายตา ศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้านและลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ อย่างการทำนา การทำขวัญข้าว การทำผ้าขาวม้าร้อยสี การปีนตาล ไปจนถึงการทำน้ำตาลสด ทำขนมตาล ขนมข้าวเกรียบว่าว ขนมมัดใต้ หน้าตาคล้ายกับข้าวต้มมัดแต่ไส้คนละแบบ จะมีถั่วเหลืองและหมู รสชาติออกเค็มนิดๆ มีพริกไทยหน่อย และมีขนาดใหญ่กว่า ทานขนมมัดใต้หนึ่งอันถึงกับจุกได้เลยทีเดียว

บ้านหนองขาว
นอกจากนี้ยังพาไปชมแหล่งเรียนรู้ศิลปะของชุมชน หรือใครสนใจจะปั่นจักรยานในหมู่บ้านก็ลัดเลาะไปตามคันนาแวะพบปะพูดคุยกับชาวบ้านได้ ถ้ายังไม่จุใจจะพักสักคืนก็มีโฮมสเตย์ไว้บริการ


การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นไปตามวิถีชีวิตจริงที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เราได้อะไรมากมายนอกเหนือจากการพักผ่อน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมในพื้นที่ที่แตกต่างจากบ้านเรา เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม อาจไม่จำเป็นอีกต่อไปเมื่อเราพบกับวีถีวัฒนธรรมที่เข้มข้น เราจะซึมซับสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่รู้ตัว

ประวัติบ้านหนองขาว

บ้านหนองขาว

ชุมชนหนองขาวหรือตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นชุมชนใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ปัจจุบันสภาพสังคมของ บ้านหนองขาวกำลังเปลี่ยนไปตามสังคมสมัยใหม่ แต่ชาวบ้านยังคงสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ไว้ได้อย่างมาก

บ้านหนองขาวตั้งอยู่บริเวณชายขอบของที่ราบลุ่มอันเป็นช่องทางระหว่างที่สูงซึ่งขนานอยู่ทั้งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกจากตัวจังหวัดกาญจนบุรี บ้านหนองขาวถือเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่   ที่ราบบนเส้นทางดังกล่าวเป็นที่ราบขั้นบันได มีลำน้ำจากที่สูงด้านตะวันตกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกไหลมาหล่อเลี้ยง นับเป็นพื้นที่เหมาะสมในการทำการเกษตรและทำให้เกิดเป็นชุมชนขึ้นตามชายขอบที่สูงทั้งสองด้าน 

ทัวร์กาญจนบุรี 3 วัน 2 คืน KH301

          ชุมชนซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณนี้มีพัฒนาการที่แตกต่างกันหลายยุคหลายสมัย โดยชุมชนที่มีขนาดใหญ่มักตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเพราะอยู่บนเส้นทางคมนาคม นอกจากนั้นยังพบชุมชนกระจายอยู่ตามที่ดอนที่ลุ่มและที่สูงด้านตะวันออก โดยมีบ้านทวนหรืออำเภอพนมทวนเป็นศูนย์กลางของท้องถิ่น เนื่องจากเป็นจุดที่ลำน้ำหลายสายไหลมารวมกันเป็นลำห้วยทวนไหลสู่ที่ลุ่มซึ่งเชื่อมต่อไปยังเมืองอู่ทอง จึงอาจกล่าวได้ว่าบ้านดอนตาเพชร และท้องถิ่นพนมทวนถือเป็นศูนย์กลางของท้องถิ่นแถบนี้ บ้านหนองขาวจึงนับเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งอารยธรรมในสมัยพัฒนาการของบ้านเมืองในยุคแรกเริ่ม และการที่หนองขาวตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคม ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ชุมชนเหล่านี้มีความสำคัญอยู่ทุกยุคทุกสมัย

          หนองขาวเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าและเส้นทางสงครามระหว่างไทยกับพม่า ซึ่งนับเป็นพื้นที่ชายแดนอ่อนไหวต่อการควบคุมของอำนาจรัฐ และมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่หลากหลายมานับตั้งแต่อดีต อาทิเช่น การเข้ามาของคนอินเดีย การเข้ามาของคนจีนในหนองขาว เป็นต้น



บ้านหนองขาว
อาชีพ

         อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพสำคัญของบ้านหนองขาวตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้า พื้นดินอุดมสมบูรณ์ สามารถปลูก ข้าวได้ผลดีกว่าพื้นที่อื่นๆ ชุมชนแห่งนี้จึงเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรีมา ตั้งแต่อดีต ดังปรากฏหลักฐานใน ตามเสด็จไทรโยค พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวว่า ชุมชนรอบๆ ต้องซื้อข้าวจากบ้านหนองขาวสะท้อนให้เห็นถึงว่าชุมชนหนองขาวมีการทำนามาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง เมื่อมาถึงแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ที่เน้น การลงทุนสร้างปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (infra-structure) ของประเทศ ได้แก่ การสร้างทางหลวงสายประธาน การพัฒนาเส้นทางรถไฟ การปรับปรุงการประปา และการสร้าง เขื่อนเพื่อการชลประทานและการผลิต ซึ่งการปรับปรุงการปัจจัยพื้นฐานเป็นผลให้การทำนาได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลให้สภาพสังคมของชุมชนหนองขาวนั้นเปลี่ยนไป โดยในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องทุ่นแรง ชาวหนองขาวนิยมใช้วัวไถนาและนวดข้าว แต่นับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 การทำนาก็ขยายตัวขึ้น เช่น นาทุ่งอาศัยน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ์ จึงสามารถทานาได้ปีละ 2 ครั้งตามการปล่อยน้ำของ กรมชลประทาน  มีการใช้เครื่องจักรแทนกำลังคน ทำให้จากแต่เดิมในการทำนาจำเป็นต้องใช้กำลังคนในขั้นตอนต่างๆ บ้านหนองขาวจึง มีธรรมเนียมการช่วยเหลือกันในหมู่ญาติมิตร เรียกว่า “การเอาแรง” กล่าวคือ เมื่อมีชาวบ้านจะเกี่ยวข้าว คนในครอบครัวนั้นจะเดินไป “ขอแรง” จากครอบครัวอื่น ภายหลังเมื่อบ้านที่เคยมาเอาแรงไว้จะเกี่ยวข้าวบ้าง บ้านที่ไปขอแรงในตอนแรกก็จะไปช่วยเหลือเป็นการตอบแทนน้ำใจกัน ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้ธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมาก็ค่อยๆหายไป และนำมาสู่ธรรมเนียมใหม่ๆ ที่เริ่มมีความเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น เช่น เจ้าของนาจะติดต่อจ้างคนที่มีรถไถและรถเกี่ยวข้าวไว้ เมื่อถึงเวลาไถพลิกหน้าดินหรือหว่านเมล็ดข้าว เจ้าของนาเพียงอยู่เฝ้า คนที่มารับจ้างในระหว่างทำนาเท่านั้น เป็นต้น


ทัวร์กาญจนบุรี+โฮมสเตย์ KH302

การรักษาโรคและการสาธารณสุขของชุมชนหนองขาว


การรักษาโรคทั่วไปของชาวหนองขาวมักเริ่มต้นจากการพึ่งพาตนเองในครัวเรือนก่อน ยาแผนโบราณที่เป็นที่รู้จักในบ้านหนองขาวแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ยากลางบ้านและยาผีบอก “ยากลางบ้าน” คือ ยาที่ได้จากสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน ในครัว หรือในสวนครัว เช่น หมาก ใบพลู ปูน ขิง ข่า ตะไคร้ ใบโหระพา มะกรูด มะนาว สับปะรด เป็นต้น ยากลางบ้านที่ชาวหนองขาวใช้บรรเทาความเจ็บป่วยบ่อยๆ เช่น ใบกะเพราขยี้หรือตาผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย ใช้ทาท้องแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใบต้น “ลูกเขยตายแม่ยายปรก” ตาผสมกับเหล้าขาวหรือน้าเล็กน้อย ใช้ทาแก้พิษแมลงกัดต่อย แก่นขนุนนาไปต้มน้ำดื่มเพื่อแก้ไข้ทับฤดู เป็นต้น ยากลางบ้านเหล่านี้มักใช้กันเฉพาะครัวเรือนบางครอบครัวอาจจะมีวิธีใช้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสิ่งที่หาได้ภายในบ้าน เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย คนเฒ่าคนแก่จะเป็นคนบอกวิธีใช้ยากลางบ้านให้แก่ลูกหลานเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย ส่วน “ยาผีบอก” หมายถึง ยาที่ได้จากการฝันหรือเข้าทรง โดยผู้มาเข้าฝันหรือผู้เข้าทรงบอกตำรายาเพื่อเป็นการเอาบุญ เมื่อผู้ใช้หายจากโรคแล้ว ต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าของตำรับ

บ้านหนองขาว

นี่คือสิ่งที่เป็นไปเมื่อเราก้าวเข้ามาในหมู่บ้านหนองขาว วิถีชีวิตที่ดำเนินไปตามวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาและยังคงรักษาไว้ตราบนานเท่านาน


..................... 
(หากนักท่องเที่ยวต้องการเข้าชมหมู่บ้านเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อ ททท. สำนักงานกาญจนบุรี หรือ ติดต่อโดยตรงที่ บ้านหนองขาว โทร. 0 3458 6060 ห้องสมุดประชาชนบ้านหนองขาว โทร. 0 3458 6208 เทศบาลตำบลหนองขาว โทร. 0 3465 9663 หรือวัดอินทราราม (วัดหนองขาว) โทร. 0 3458 6003) 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: http://www.museumthailand.com
                         http://www.bangkokbiznews.com


บริการรถตู้ กาญจนบุรี
ทีมงานไกด์กาญจนบุรี

Visitors: 110,651