วัดถ้ำเสือ
-01.jpg)
วัดถ้ำเสือ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงไม่น้อย รวมถึงยังถือว่าเป็นวัดที่มีพระที่มีองค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดกาญจนบุรี พระเจดีย์ที่มีความสวยงามโดดเด่น สามารถมองเห็นได้จากในระยะไกล เพราะตั้งอยู่บนเนินเขา ใครที่มาเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี สามารถแวะเยี่ยมชมวัด สักการะพระบรมสารีริกธาตุภายในพระเจดีย์เกศแก้วปราสาท และนมัสการหลวงพ่อชินประทานพร

สิ่งที่สะดุดสายตาของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมวัดเพื่อกราบนมัสการพระธาตุ ก็คือ ความใหญ่โตกว้างขวางของวัดและพระพุทธรูปปางประทานพรที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดกาญจนบุรีตัวองค์พระสวยงามประดับ ด้วยโมเสคสีทองทั้งองค์ เมื่อเดินทางมาถึงด้านบนก็พบกับความสดชื่นของลมที่พัดเย็น และแรงทีเดียวมองไปด้านล่างเห็นเป็น ทุ่งนา เขียวขจี
นอกจากนี้ ยังมีพระเจดีย์เกษแก้วปราสาท องค์พระเจดีย์เป็นสีอิฐทั้งองค์แบ่งเป็นชั้นต่างๆ หลายชั้น แต่ละชั้นจะ ประดิษฐาน พระพุทธรูปต่างๆมากมายจนถึงชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย และยังมีวิหารต่างๆให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปและชื่นชมความงดงามของจิตรกรรมฝาผนังภายในเมื่อชมจนทั่วแล้วก็ลงไป ข้างล่างเพื่อเข้าถ้ำเสือเป็นถ้ำขนาดเล็กอยู่บริเวณเชิงเขาด้านล่าง ภายในประดิษฐานพระประจำวันเกิดและจำหน่ายวัตถุมงคล

วัดถ้ำเสือได้มีการวางแผ่นฤกษ์เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ. 2516 โดยเริ่มสร้าง "หลวงพ่อชินประทานพร" ขนาด สูง 9 วา 9 นิ้ว หน้าตัก 5 วา 3 ศอก 9 นิ้ว นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ ปางประทานพร พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอุระ ปลายนิ้วชี้กับนิ้วโป้งจรดกัน กลางฝ่ามือมีดอกไม้ พระหัตถ์ซ้ายหงายมือวางบนพระเพลา (ตัก) ปลายนิ้วชี้กับนิ้วโป้งจรดกัน กลางฝ่ามือมีรูปวงล้อธรรมจักร รอบองค์พระมีเรือนแก้วครอบลักษณะเดียวกับพระพุทธชินราช องค์พระประดับกระเบื้องสีทอง สุกอร่ามรอบนอกมีซุ้มครอบองค์พระทั้งองค์ไว้อีกชั้นหนึ่ง นับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการสร้างมณฑปเพื่อครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย ที่มีความยาว 1.50 เมตร และเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี พ.ศ. 2520 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา (พื้นที่ในการสร้างอุโบสถ) เพื่อสร้างพระอุโบสถอัฐมุข คือสร้างพระอุโบสถให้มีมุข 8 ด้าน โดยมีมุขหลักยื่นออกมา 4 ด้าน ระหว่างมุขแต่ละด้าน มีหลังคาจั่วซ้อนชั้นยื่นออกมา ดูเป็นมุข 8 ด้าน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนที่ไหน เป็นการสร้างโดยเปรียบกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปทั้ง 8 ทิศ เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถ จะเห็นผนังเป็นแปดด้านอย่างชัดเจน ผนังประดับด้วยปูนปั้นเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ
ต่อมาในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 9 ปี พ.ศ. 2527 ได้มีการทำพิธีลงเข็ม เทเสาเอก เพื่อก่อสร้าง "พระเจดีย์เกศแก้วปราสาท" ที่ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 7 ปี เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม สีส้มอิฐ มีความสูง 75 เมตร มีทั้งหมด 9 ชั้น ตรงกลางมีบันไดเวียนสามารถเดินขึ้นไปถึงชั้นบนสุด แต่ละชั้นมีหน้าต่างติดด้วยบานกระจกเลื่อนโดยรอบ และประดิษฐานพระพุทธรูปตามบริเวณช่องหน้าต่าง สามารถขึ้นไปชั้นบนสุดเพื่อนมัสการองค์พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาบรรจุไว้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2533
เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน
จันทร์ - ศุกร์: เวลา 8.30 - 16.30 น.
เสาร์ - อาทิตย์: เปิดเวลา 8.00 - 16.30 น.
การเดินทางไปยังวัดถ้ำเสือ และวัดถ้ำเขาน้อย
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดกาญจนบุรี สามารถแวะทำบุญสักการะพระที่วัดถ้ำเสือและวัดถ้ำเขาน้อยได้ทั้งขาไปและขากลับ เพราะอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางหลัก และห่างจากตัวเมืองกาญจน์เพียง 12 กิโลเมตร วัดทั้งสองตั้งอยู่ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง อยู่ติดกันแค่มีรั้วกั้น สามารถเข้าไปภายในวัดได้จากชั้นล่าง เพราะทั้งสองวัดไม่มีทางเชื่อมต่อกัน
การเดินทางจากกรุงเทพฯ
1. จากกรุงเทพฯ ผ่านอำเภอบ้านโป่ง เข้าถนนแสงชูโต จะผ่านแยกมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ จากนั้นพอถึงแยกท่าม่วง เลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอท่าม่วง
2. ผ่านหน้าโรงพยาบาลท่าม่วง วนวงเวียนหอนาฬิกา เพื่อเลี้ยวซ้ายไปถนนเลียบคลองชลประทาน
3. เจอสามแยก เลี้ยวขวาไปอีก 2 กิโลเมตร (มีป้ายบอกทาง) ให้วิ่งไปทางเดียวกับวัดม่วงชุม พอเลยวัดม่วงชุมไปจะเห็นทางเข้าวัดถ้ำเสือ อยู่ทางซ้ายมือ
การเดินทางจากตัวเมืองกาญจน์
1. จากตัวเมืองกาญจน์ วิ่งผ่านหน้าโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เจอสามแยกไฟแดงตรงหน้าศาลากลางจังหวัด ให้เลี้ยวขวา
2. หลังจากข้ามสะพานแล้ว ให้ทำการเลี้ยวซ้ายข้างสะพาน (ทางเดียวกับทางไปวัดบ้านถ้ำ) จากนั้นวิ่งถนนสายใน ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร
3. วิ่งข้ามคลองชลประทานไป จนเห็นวัดม่วงชุม เลี้ยวขวาข้างวัด (ตรงนี้ไม่มีป้ายบอกทาง) วิ่งเลาะรั้ววัดมา ถึงสามแยกเลี้ยวขวา จะเห็นป้ายทางเข้าวัดถ้ำเสือทางซ้ายมือ
ข้อแนะนำ
- วัดถ้ำเสือ และ วัดถ้ำเขาน้อย เป็นวัดที่อยู่ติดกัน สามารถเที่ยวชมได้ทั้งสองวัดในวันเดียวกัน
- วัดถ้ำเสือ มีรถรางไฟฟ้าสำหรับบริการผู้ที่ไม่สะดวก หรือ ไม่สามารถเดินขึ้นบันไดได้ (บันไดค่อนข้างแคบและชัน) ส่วนวัดถ้ำเขาน้อยไม่มีรถรางบริการ การเดินขึ้นไปยังเจดีย์หมื่นพุทธจะมีเส้นทางค่อยๆ ไต่ระดับ เดินง่าย ไม่ชันมาก
- ควรแต่งกายสุภาพเข้าวัด
- การเดินทางไปยังวัดถ้ำเสือ และวัดถ้ำเขาน้อย มีบางช่วงเส้นทางค่อนข้างซับซ้อน เพราะต้องผ่านเข้าไปในเส้นทางแคบในเขตชุมชน และบางจุดป้ายบอกทางไม่ชัดเจน ควรสังเกต ยอดของพระเจดีย์เกศแก้วปราสาทของวัดถ้ำเสือ แล้วมุ่งเดินทางไปตามเส้นทางนั้น
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : https://travel.mthai.com
https://www.ceediz.com
https://www.paiduaykan.com
http://libsis.lib.su.ac.th