ประวัติหลวงพ่อ

  พระครูอดุลพิริยานุวัตร หรือ หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ เจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
   พระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทย์ชื่อดังแห่งอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านอักขระเลขยันต์ การสักยันต์และเวทย์มนต์คาถา อยู่ยงคงกระพันชาตรี มหาอุด แคล้วคลาด กำบังภัย เมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ รอบรู้พระสูตรการทำผงพุทธคุณ เช่น ผงอิธิเจ ผงปัทมัง ผงมหาราช ผงหน้าพระรักษ์ ผงอิติปิโสรัตนมาลา ที่สำคัญที่สุดคือผงพุทธคุณอาการัตตาสูตร ซึ่งสามารถเรียนรู้และชำนาญการ ได้สืบทอดมาจนครบใน 17 มหาวรรคแห่งพระคาถา เชี่ยวชาญเข้มขลังในการทำตะกรุด การปลุกเสกบรรจุพลังพุทธคุณ การหนุนธาตุให้เกิดพลังความศักดิ์สิทธิ์
   หลวงพ่อชุบเกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2469 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ในตระกูล “ถินนาก” โยมบิดาชื่อนายปลื้ม ถินนาก โยมมารดาชื่อนางช่วง ถินนาก ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 5 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 มีพี่สาว 3 คน น้องชาย 1 คน และมีพี่สาวต่างมารดา 1 คน โยมบิดามารดาประกอบอาชีพด้านการเกษตร หลวงพ่อชุบได้เล่าให้ฟังว่าทางราชการได้แก้ไขชื่อสกุลของท่านจาก “ถินนาก” เปลี่ยนเป็น “ถิ่นนาค” เนื่องจากความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ของทางราชการในสมัยนั้น
  ในช่วงวัยเยาว์ท่านได้ใช้ชีวิตแบบเด็กชนบททั่วไป แต่ท่านเป็นเด็กที่ฉลาดกว่าเด็กในวัยเดียวกันกล่าวคือท่านมีความจำที่ดี ได้รับฟังเรื่องราวต่างๆเพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถจำไปเล่าได้ถูกต้อง แล้วยังมีความสามารถในด้านศิลปะอีกด้วย ท่านสามารถเขียนรูปภาพต่างๆที่ได้พบเห็นได้อย่างสวยงาม โดยท่านมีอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น รักษาสัจจะวาจา อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นที่รักใคร่แก่คนทั่วไป รักการศึกษาเล่าเรียน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งมีอายุราว 18 ปี ท่านได้เป็นกำลังสำคัญช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพเพราะท่านถือได้ว่าเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว ซึ่งชีวิตในวัยหนุ่มของชายชนบททั่วไปจะต้องหาครูบาอาจารย์เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาอาคมต่างๆไว้ป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ใครมารังแกข่มเหงได้
หลวงพ่อชุบ วัดวังกระแจะ
  โดยในสมัยนั้นเมืองแม่กลองมีฆราวาสจอมขมังเวทย์ที่มีชื่อเสียงทั่วลุ่มน้ำแม่กลองด้านคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ลูกศิษย์ของสำนักนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเลงว่าหนังดี ขนาดแมลงวันก็ไม่สามารถกินเลือดของลูกศิษย์สำนักนี้ได้ ซึ่งฆราวาสจอมขมังเวทย์ที่กล่าวถึงก็คือ อาจารย์รื่น นิลแนบแก้ว แห่งสำนักสักยันต์บ้านหนองอ้อ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม หลวงพ่อชุบได้เข้าฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์รื่น ด้วยอุปนิสัย เด็ดเดี่ยว รักษาสัจจะ อ่อนน้อมถ่อมตน รักการศึกษาเล่าเรียน ทำให้เป็นที่รักของอาจารย์รื่น ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆจากพระอาจารย์รื่นจนเชี่ยวชาญทุกแขนง โดยที่อาจารย์รื่นเป็นลูกศิษย์พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท พระอาจารย์ผู้ถ่ายทอดสรรพวิชาด้านไสยเวทย์แขนงต่างๆให้กับอาจารย์รื่น ฆราวาสจอมขมังเวทย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง อาจารย์รื่นได้ถ่ายทอดวิชาไสยเวทย์แขนงต่างๆของหลวงปู่ศุข ให้กับหลวงพ่อชุบอีกทอดหนึ่ง จึงกล่าวได้ว่าหลวงพ่อชุบเป็นศิษย์สายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า โดยผ่านต่อจากอาจารย์รื่น ฆราวาสจอมขมังเวทย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง หลวงพ่อชุบได้อยู่รับใช้และเล่าเรียนสรรพวิชากับอาจารย์รื่นจนอายุครบบวช ท่านจึงได้บวชพระเพื่อทดแทนพระคุณของบิดามารดาและครูบาอาจารย์ตามประเพณีนิยมของชาวไทย
  ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2491 ที่วัดคู้สนามจันทร์ ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีพระอธิการกลึง ธมฺมโชติ วัดสวนแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเจียม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการปิ่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อหลวงพ่อชุบบวชแล้วท่านได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงพ่อกลึง พระอุปัชฌาย์ โดยหลวงพ่อชุบได้เรียนวิชาไสยเวทย์กับอาจารย์รื่นมาก่อนแล้ว เมื่อบวชเป็นพระ หลวงพ่อกลึงได้ถ่ายทอดวิชาต่างๆให้อีก จึงทำให้หลวงพ่อชุบสามารถจดจำความรู้ด้านไสยเวทย์วิทยาคมต่างๆได้อย่างรวดเร็ว หลวงพ่อชุบจำพรรษาอยู่ที่วัดคูสนามจันทร์ เป็นเวลา 4 พรรษา หลังจากนั้นท่านก็ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเพชรสมุทร (วัดหลวงพ่อบ้านแหลม) ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นเวลาอีก 14 พรรษา เพื่อศึกษาด้านพระปริยัติธรรม และได้ศึกษาสรรพวิชา จากพระมหาสิทธิการทอง วัดเพชรสมุทรด้วย โดยพระมหาสิทธิการทองนั้น ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม ซึ่งหลวงพ่อชุบศึกษาได้เปรียญธรรม 5 ประโยคขณะที่จำพรรษาที่วัดเพชรสมุทรอีกด้วย โดยหลวงพ่อชุบจะออกเดินธุดงค์ทุกปี บางปีธุดงค์ไปถึงนครศรีธรรมราช เพื่อสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อยู่นครศรีธรรมราช 3 คืน แล้วจึงเดินธุดงค์กลับวัดเพชรสมุทร หลวงพ่อชุบได้เดินธุดงค์แถบป่าเขาด้านตะวันตกแถบราชบุรี กาญจนบุรี ถึงชายแดนพม่า และท่านได้เดินธุดงค์มาถึงถ้ำละว้า อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. 2505
วัดวังกระแจะ
หลวงพ่อชุบได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีให้ดำรงตำแหน่งต่างๆมากมาย ดังนี้
พ.ศ. 2513 หลวงพ่อชุบได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังกระแจะ ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
พ.ศ. 2517 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลท่าทุ่งนา และต่อมาได้ย้ายมาเป็นเจ้าคณะตำบลวังกระแจะ
พ.ศ. 2519 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนาม “พระครูอดุลพิริยานุวัตร
พ.ศ. 2520 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2526 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอไทรโยค
พ.ศ. 2549 ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอไทรโยค
เนื่องจากที่หลวงพ่อชุบมีอายุครบ 80 ปี จึงเกษียนในตำแหน่งปกครองสงฆ์
วัดวังกระแจะ
งานด้านการศึกษา

พ.ศ. 2498 หลวงปู่ชุบได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
พ.ศ. 2499 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง
พ.ศ. 2501 ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนบาลี
พ.ศ. 2513 เป็นเจ้าสำนักเรียนประจำสำนักเรียนวัดวังกระแจะ

งานสาธารณูปโภค

พ.ศ. 2516 หลวงพ่อชุบได้จัดสร้างอุโบสถขึ้น
พ.ศ. 2519 สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอฉัน หอสวดมนต์ ห้องน้ำ
พ.ศ. 2534 สร้างเมรุ ศาลาฌาปนสถาน และห้องน้ำใหม่
พ.ศ. 2547 สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่

งานเผยแผ่พุทธศาสนา

พ.ศ. 2524 หลวงพ่อชุบได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตเผยแผ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นั่นคือ ประเทศอินเดีย
 
 หลวงพ่อชุบนับเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีบารมีสูงส่ง มุ่งมั่นสืบทอดและจรรโลงบวรพระพุทธศาสนาตามเจตนารมณ์แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง และเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียง
 
ขอขอบคุณข้อมูล https://www.khaosod.co.th
                    https://www.komchadluek.net
                    https://www.pnt19.com

กาญจนบุรี ไหว้พระ (K307)
บริการรถตู้
Visitors: 109,778